การประชุมครั้งนี้ ได้มีการนำเสนอให้ใช้ชื่อ "โคราช" เป็นชื่ออุทยานธรณี โดยมีชื่อเต็มคือ "อุทยานธรณีโคราช" เนื่องจากในจังหวัดนครราชสีมา มีกลุ่มหินชื่อ Korat Group พบกระจัดกระจายในพื้นที่มากที่สุด และเป็นชื่อวิทยาศาสตร์ของฟอสซิลสัตว์สายพันธุ์ใหม่ของโลกที่พบในจังหวัดหลายชนิด เช่น อุรังอุตังโคราช จระเข้โคราช รวมทั้งเป็นชื่อเดิม และชื่อทั่วไปที่เป็นที่รู้จักกันดีของจังหวัด ส่วนพื้นที่จัดตั้งอุทยานธรณีนั้น ให้ใช้พื้นที่ 11 อำเภอ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัด ประกอบด้วย อำเภอปากช่อง วังน้ำเขียว ปักธงชัย โชคชัย สูงเนิน สีคิ้ว เทพารักษ์ ด่านขุนทด ขามทะเลสอ เฉลิมพระเกียรติ และอำเภอเมืองนครราชสีมา
สำหรับการจัดประชุมดังกล่าว เพื่อเป็นการระดมความคิดของส่วนราชการทั้งภายในและภายนอกจังหวัด ในการผลัดดันให้จังหวัดนครราชสีมา มีการจัดตั้งอุทยานธรณี หรือ โคราชจีโอพาร์ค โดยถือเป็นโครงการสนับสนุนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวของจังหวัด ภายใต้แบรนด์ยูเนสโก เพื่อช่วยส่งเสริมให้มีการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว การสร้างงาน และรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่น รวมถึงการอนุรักษ์ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติให้คงอยู่อย่างยั่งยืน และพัฒนายกระดับมาตรฐานคุณภาพการผลิตสินค้าในแหล่งท่องเที่ยวให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ จังหวัดนครราชสีมา จึงมอบหมายให้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น พร้อมทั้งประสานความร่วมมือจากหน่วยงานทุกภาคส่วน ให้ช่วยอำนวยความสะดวกในการดำเนินงาน และมีสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นผู้ให้การสนับสนุนงบประมาณโครงการจัดตั้งอุทยานธรณีโคราชให้รุดหน้าต่อไป