ดร.สราวุธ แก้วตาทิพย์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันเรื่องพลังงานมีความสำคัญมากขึ้น แหล่งเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตพลังงานจำพวกฟอสซิล เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ กำลังจะหมดไป ประกอบกับสถานการณ์ด้านข้อมูลข่าวสารเรื่องพลังงานมีการเผยข้อมูลกระจัดกระจายอยู่ในสื่อสมัยใหม่ต่างๆ จำนวนมาก โดยเฉพาะสื่อ Social Media ซึ่งข้อมูลส่วนใหญ่ไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริง กระทรวงพลังงานจึงเล็งเห็นความสำคัญในการวางรากฐานสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องพลังงานไว้ในแบบเรียนเพื่อให้เด็กและเยาวชนได้ตระหนักรู้ถึงที่มาของพลังงาน รู้จักพลังงานประเภทต่างๆ พลังงานรูปแบบใหม่ๆ ที่พัฒนาขึ้นมาทดแทนพลังงานฟอสซิล ที่นับวันปริมาณจะลดลงเรื่อยๆ รวมถึงเข้าใจเรื่องพลังงานที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวัน การให้นักเรียนได้เรียนรู้ความเป็นจริงเรื่องพลังงาน จะมีส่วนช่วยสร้างความเข้าใจสถานการณ์ด้านพลังงานที่ปรับเปลี่ยนไป
กระทรวงพลังงานและกระทรวงศึกษาธิการจึงได้พัฒนาปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ เนื้อหาด้านพลังงาน เพื่อเป็นสื่อการเรียนการสอน หนังสือเรียน คู่มือครู และกิจกรรมเสริมหลักสูตรของการศึกษาในทุกระดับชั้น ปัจจุบัน สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้จัดทำคู่มือครูและหนังสือเรียนวิทยาศาสตร์รายวิชาเพิ่มเติม 2 เรื่องสำหรับการเรียนการสอนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น คือ 1)"พลังงานทดแทนกับการใช้ประโยชน์" ซึ่งเน้นองค์ความรู้เกี่ยวกับการนำพลังงานที่มีอยู่ในธรรมชาติ เช่น พลังงานน้ำ ลม แสงอาทิตย์ ชีวมวล มาใช้เป็นพลังงานทดแทนพลังงานที่ได้จากเชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์ หรือฟอสซิล ที่ปริมาณลดลงเรื่อยๆ รวมถึงการนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ในการผลิตฟ้า ซึ่งจะเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหาด้านความต้องการพลังงานที่มีมากขึ้น
2) หนังสือเรียนและคู่มือครูเรื่อง "เชื้อเพลิงเพื่อการคมนาคม" ซึ่งเน้นองค์ความรู้เกี่ยวกับความสำคัญและการใช้ประโยชน์จากปิโตรเลียมซึ่งเป็นแหลงพังงานที่สำคัญของโลก เพื่อใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า ปลอดภัยต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมสูงสุด
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานมีแนวทางช่วยสนับสนุนให้มีการอบรมให้กับครูผู้สอนวิชาวิทยาศาสตร์ด้านพลังงาน โดยจะมีที่ปรึกษาอบรมครูผู้สอนวิชาวิทยาศาสตร์พลังงานในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นทั่วประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาได้รับความสนใจจากครูผู้สอนเข้าร่วมสมัครอบรมจำนวนมาก โดยจัดอบรมเป็นรุ่นๆ จำนวนรวมทั้งสิ้น 1,000 คน เพื่อแนะแนวการสอนเนื้อหาวิชา การใช้สื่อการสอนแก่ครูผู้สอนให้มีความเข้าใจและสามารถนำไปใช้สอนในห้องเรียนอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ ซึ่งการอบรมหลักสูตรทั้ง 2 เรื่องได้เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายน 2558 และจะอบรมต่อเนื่องไปถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2559.