สัปดาห์ที่ผ่านมา ทีมสื่อสารฯ ภาคอีสาน ได้มีโอกาสไปเยือนชุมชนน่าอยู่ ที่บ้านสำโรง ตำบลท่าสว่าง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ หมู่บ้านขนาดกลาง ห่างจากตัวเมืองประมาณ 7 กม. ที่คนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ทำสวนผัก สภาพหมู่บ้านโดยทั่วไปไม่แตกต่างจากหมู่บ้านอื่นมากนัก นอกจากทั่วทุกมุมของหมู่บ้านแลดูสะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อยสงบ น่าอยู่ตามแบบฉบับหมู่บ้านที่ยังมีกลิ่นอายของความเป็นชนบทหลงเหลืออยู่
รายละเอียดต่างๆชัดเจนขึ้น หลังจากได้นั่งคุยกับผู้ใหญ่บ้านอึ่ง พีรวัศ คิดกล้า ผู้ใหญ่บ้านคนรุ่นใหม่ เราถึงได้รู้ว่าในอดีต หมู่บ้านสำโรงแห่งนี้ เป็นหมู่บ้านที่มีปัญหาเยอะที่สุด ทั้งปัญหาขยะที่ชาวบ้านมักนำมากองทิ้งหน้าบ้าน แล้วก่อไฟเผาเอาง่ายๆ ทำให้บางซอยของหมู่บ้านมีสภาพไม่ต่างจากสลัม ปัญหาสารเคมีทางการเกษตร จากคนส่วนใหญ่ปลูกผักส่งในตลาดในเมือง มีการฉีดพ่นยาฆ่าแมลงจนหมู่บ้านข้างเคียงเดือดร้อน มาร้องเรียนหลายครั้ง ปัญหายุงลายโดยทำสถิติผู้ป่วยสูงที่สุดในตำบลหลายปีต่อเนื่อง รวมทั้งปัญหาการขาดความสามัคคี คนในชุมชนมีความขัดแย้งกันในเรื่องการเมืองท้องถิ่น
3 ปี กับ 5 สัญญาใจ ชีวิตเปลี่ยน ชุมชนเปลี่ยน เริ่มต้นจากอะไร
การตั้งคณะกรรมการสภาชุมชน คือเงื่อนไขของการทำงานโครงการร่วมสร้างชุมชนน่าอยู่ ที่สนับสนุนโดยสำนัก 6 สสส. ซึ่งผู้ใหญ่บ้านอึ่ง ได้ขอสนับสนุนงบประมาณมาทำงาน หลังจากเล็งเห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนต้องเร่งแก้ไข
นัดแรกของการประชุมสภาหมู่บ้าน เริ่มต้นขึ้นเมื่อเวลา 1 ทุ่ม หลังจากชาวบ้านเสร็จจากภารกิจไร่นา เป็นการประชุมอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่มีรูปแบบตายตัว ให้ทุกคนในหมู่บ้านเข้าร่วม และเสนอความคิดเห็นอย่างเปิดกว้างกำหนดวาระเพียง การตั้งกติกาและคณะกรรมการสภาชุมชน จากตัวแทนกลุ่มต่างๆ เช่น ผู้สูงอายุ เด็กเยาวชน อสม. และจิตอาสา ในปีแรกมีคณะกรรมการถึง 53 คน
จากนั้นเปิดวงให้แต่ละคนเล่าถึงปัญหาและความต้องการ เสียงบอกเล่า ถกเถียง ดังขึ้นเป็นระยะๆ แตกต่างจากการประชุมหมู่บ้านที่ผ่านมา ที่เป็นการประชุมตามหน้าที่ โดยนำข้อมูลของภาครัฐมาแจ้งให้ลูกบ้านทราบ แล้วยกมือประชาคม ก่อนจะแยกย้ายกันกลับ แต่ครั้งนี้ทุกคนล้วนรับรู้ว่าชุมชนมีปัญหา มองเป้าหมายเดียวกัน ต่างรอวันและโอกาสที่จะได้ร่วมกันแก้ไขให้ดีขึ้น
หลังการถกเถียงจบลง ที่ประชุมลงมติ "กติกาชุมชน" หรือ "สัญญาใจ" 5 ข้อ เพื่อแก้ปัญหาในชุมชนเบื้องต้น ที่เป็นเรื่องใกล้ตัวเร่งด่วนก่อน ทุกครัวเรือนยินดีปฏิบัติร่วมกัน คือ
1. ทุกครัวเรือนต้องปลูกผักปลอดสารไว้รับประทานอย่างน้อย 5 ชนิดขึ้นไป
2. ทุกครัวเรือนจะต้องมีการคัดแยกขยะและดูแลความสะอาดสิ่งแวดล้อมดี
3. เป็นครัวเรือนลด ละ ปลอดเหล้าและไม่มีเรื่องทะเลาะวิวาทให้เกิดความรำคาญ
4. ต้องไม่มีลูกน้ำยุงลายในบริเวณบ้าน
5. ต้องเข้าร่วมประชุม ร่วมกิจกรรมและการพัฒนาของหมู่บ้านทุกครั้ง
นอกจากนี้ยังได้ตั้งกติกาสภาหมู่บ้าน เช่น เวลาเข้าร่วมประชุมต้องสวมเสื้อสภา ห้ามเข้าประชุมขณะเมาเหล้า ไม่ติฉินนินทากัน มีหน้าที่ออกตรวจประเมินการปฏิบัติตามกติกาชุมชน คณะกรรมการสภาต้องเป็นตัวอย่างที่ดี มีกำหนดประชุมเดือนละ 1 ครั้ง เวลา 19.00 น. เป็นต้น
สภาหมู่บ้าน "ประชาธิปไตยชุมชน" ในแบบฉบับของบ้านสำโรง
นอกจากประชุมสภาหมู่บ้านเดือนละครั้ง แต่ละคุ้มบ้าน ยังมีการตั้งประธาน-รองประธานคุ้มบ้าน มีการกำหนดประชุมย่อยแต่ละคุ้มบ้าน รวมทั้งการประชุมตามวาระอีก เรียกได้ว่า คนหมู่บ้านนี้คุยกันรายสัปดาห์ รายเดือน จนการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกลายเป็นวัฒนธรรมชุมชนโดยไม่รู้ตัว จุดเด่นของการคุยกัน อยู่ที่การเปิดโอกาสให้ทุกคนร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผลประโยชน์ ประเมินผลและร่วมรับผิดชอบสิ่งที่เกิดขึ้น โดยใช้เวทีสภาหมู่บ้านเป็นเครื่องมือให้ทุกคนพูดคุย ถกเถียงให้เกิดข้อสรุปเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน
สภาชุมชนหลายคนบอกเล่าถึงความสำเร็จที่เกิดขึ้นอย่างกระตือรือร้นถึงการเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้นโดยที่คนในชุมชนแทบจะไม่รู้ตัว ทั้งวัฒนธรรมการพูดคุยเพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน วัฒนธรรมการกินเปลี่ยนไปโดยที่ชุมชนตระหนักถึงการบริโภคอาหารปลอดภัยมากขึ้น มี 37 ครัวเรือนรวมกลุ่มปลูกผักปลอดสารเคมี คนในชุมชนมีความเอื้อเฟื้อแบ่งปันกันมากขึ้น บ้านเรือนและรอบๆชุมชนสะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อย ชาวบ้านรักใคร่สามัคคีกันเพราะต่างมีเป้าหมายเดียวกัน คือพัฒนาบ้านเกิดให้อบอุ่นและน่าอยู่
3 ปีที่ทุกครัวเรือนทำตามสัญญาใจ 5 ข้อที่ตกลงร่วมกัน บางอย่างที่สำเร็จ หรือไม่สำเร็จ ได้ถูกนำมาคุยกันต่อในที่ประชุมเพื่อให้เห็นข้อมูล และยอมรับร่วมกัน สิ่งที่สำเร็จได้ถูกขยายต่อ สิ่งที่ไม่สำเร็จกลายเป็นบทเรียนที่ทุกคนได้เรียนรู้ร่วมกัน จากความขัดแย้งเปลี่ยนเป็นรอยยิ้มและความสุขของคนในชุมชน