กระทรวงเกษตรฯ เดินหน้าแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา รุกมาตรการบริหารจัดการน้ำควบคู่ปฏิบัติการฝนหลวง พร้อมเร่งรัดช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่เสี่ยง

อังคาร ๐๗ กรกฎาคม ๒๐๑๕ ๑๐:๔๔
นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะ อนุกรรมการวางแผน และติดตามการป้องกันแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร ว่า ตามที่กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทาน ได้ประกาศเรื่องขอให้เกษตรกรชะลอการเพาะปลูกข้าวนาปีในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วนอย่างประหยัด เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนปริมาณน้ำเพื่อการเพาะปลูกข้าวในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด โดยขอความร่วมมือให้เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ยังไม่ได้เพาะปลูกข้าวนาปีชะลอการเพาะปลูกออกไปก่อนจนกว่าจะเริ่มมีฝนตกชุก หรือมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูกประมาณปลายเดือนกรกฎาคม 2558 นั้น ที่ประชุมได้พิจารณามาตรการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยกระทรวงเกษตรฯ ได้มอบหมายกรมชลประทาน กรมฝนหลวงและการบินเกษตร และกรมส่งเสริมการเกษตร จัดเตรียมมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด

โดยมาตรการแก้ไขปัญหาเรื่องการบริหารจัดการน้ำ โดยกรมชลประทาน ได้จัดทำแผนที่แสดงที่ตั้งแหล่งน้ำในพื้นที่ชลประทานและนอกเขตชลประทาน เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการแก้ไขภัยแล้งได้อย่างเหมาะสมและเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งวางแผนจัดสรรน้ำรายวันของลุ่มน้ำเจ้าพระยาในปัจจุบัน ได้แก่ เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน และป่าสักชลสิทธิ์ รวมกันปริมาณวันละ 28 ล้านลูกบาศก์เมตร แบ่งเป็น 3 ด้าน คือ 1. การอุปโภค-บริโภคปริมาณ 8 ล้าน ลบ.ม. 2.รักษาระบบนิเวศน์ปริมาณ 5 ล้าน ลบ.ม. และ 3.ด้านการเกษตรปริมาณ 15 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็น พื้นที่ลูกข้าวนาปี 3.44 ล้านไร่ และพืชไร่ พืชผัก 0.03 ล้านไร่ อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะมีพื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายประมาณ 0.85 ล้านไร่ จึงได้เร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหาในพื้นที่เสี่ยง ได้แก่ 1.บริหารจัดการน้ำที่จัดสรรอย่างเข้มงวด โดยได้รับความร่วมมือจากฝ่ายปกครอง และฝ่ายความมั่นคง มีการกำหนดแผนการจัดสรรน้ำรายสำนักชลประทาน จัดทำแผนการดูแลรอบเวรการส่งน้ำ โดยฝ่ายปกครอง ฝ่ายความมั่นคง และเกษตรและสหกรณ์จังหวัดจะลงพื้นที่ชี้แจง และบริหารจัดการน้ำร่วมกับเกษตรกร 2.พิจารณาเสริมแหล่งน้ำด้วยการขุดเจาะบ่อบาดาล ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่ที่เป็นที่ดอน และ 3.พิจารณาเสริมแหล่งน้ำด้วยการก่อสร้างบ่อตอก เนื่องจากความต้องการแหล่งน้ำบาดาลของเกษตรกรมีจำนวนมากกว่าแผนการขุดเจาะบ่อบาดาลของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลมาก ซึ่งความต้องการที่เกินมานี้ กระทรวงเกษตรฯ จะเร่งหาแนวทางในการสนับสนุนต่อไป

ส่วนผลปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ระหว่างวันที่ 1 – 30 มิถุนายน 2558 กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้ปฏิบัติการฝนหลวงจำนวน 30 วัน มีฝนตกจากการปฏิบัติการฝนหลวง คิดเป็นร้อยละ 88.7 ซึ่งจังหวัดที่มีรายงานฝนตกรวมทั้งสิ้น 59 จังหวัด มีพื้นที่รับประโยชน์จากการปฏิบัติการ 165.19 ล้านไร่ โดยกำหนดเป้าหมายการปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ป่าไม้และการเกษตรบริเวณภาคเหนือตอนล่าง และพื้นที่ภาคกลาง ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด เพื่อเพิ่มและรักษาความชุ่มชื่นให้บริเวณป่าไม้และพื้นที่เกษตรกรรม และพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อน/อ่างเก็บน้ำเพื่อเพิ่มเติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อน/อ่างเก็บน้ำให้มีปริมาณมากยิ่งขึ้น ตลอดทั้งมุ่งเน้นเพิ่มปริมาณน้ำให้เขื่อน/อ่างเก็บน้ำที่อยู่ในระดับวิกฤติ ทั้งนี้ กรมฝนหลวงฯ จะยังคงเน้นปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำฝนให้พื้นที่เกษตรกรรมในช่วงเริ่มฤดูเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจประจำปี และเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักให้กับเขื่อนต่างๆ ทั่วประเทศ

สำหรับมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ต้องเลื่อนการปลูกข้าวนาปี ซึ่งอยู่ในระหว่างการดำเนินการของกรมส่งเสริมการเกษตร ประกอบด้วย

1.การจ้างแรงงานและสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร โดยการขุดลอกคูคลองส่งน้ำ และปรับปรุงอาคารชลประทาน เพื่อสร้างรายได้ให้เกษตรกรทั้งในช่วงที่เลื่อนการปลูกข้าวนาปี และภายหลังสิ้นสุดฤดูฝนโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้สั่งการให้กรมชลประทานดำเนินการขุดลอกและทำความสะอาดคลองส่งน้ำทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดการจ้างงาน

2.กิจกรรมด้านการเกษตรเพื่อสร้างรายได้ทดแทนระหว่างชะลอการเพาะปลูกข้าวนาปี โดยการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกของเกษตรกรทดแทนการปลูกข้าวนาปี อีกทั้งส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อย การทำไร่นาสวนผสม ให้เป็นไปตามความต้องการของเกษตรกร และสนับสนุนการสร้างแหล่งน้ำในไร่นาของเกษตร

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๓๑ ม.ค. รู้จักโรคอ้วนดีแล้ว.จริงหรือ?
๓๑ ม.ค. บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี ร่วมกับ MBK ส่งมอบปฏิทินในกิจกรรม ปฏิทินเก่ามีค่า เราขอ
๓๑ ม.ค. BSRC ออกหุ้นกู้รอบใหม่ 8,000 ล้านบาท ยอดจองเกินเป้า ตอกย้ำความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน
๓๑ ม.ค. คปภ. ร่วมสัมมนาประกันภัย ครั้งที่ 29 เตรียมรับมือความเสี่ยงอุบัติใหม่ พลิกโฉมธุรกิจประกันภัยสู่ความท้าทายในอนาคต
๓๑ ม.ค. มอบของขวัญให้กับครอบครัวของคุณช่วงวันหยุดพิเศษที่ สเตย์บริดจ์ สวีท แบงค็อก สุขุมวิท
๓๑ ม.ค. OR เปิดตัว CEO คนใหม่ หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ มุ่งผลักดันไทยสู่ Oil Hub แห่งภูมิภาค พร้อมขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัล-นวัตกรรม
๓๑ ม.ค. เดลต้า ประเทศไทย คว้ารางวัล ASEAN's Top Corporate Brand ประจำปี 2567
๓๑ ม.ค. โรงแรมอลอฟท์ กรุงเทพ สุขุมวิท 11 พลิกโฉมใหม่ สุดโมเดิร์น! พร้อมเปิดตัว w xyz bar ตอกย้ำความสนุกในแบบฉบับ
๓๑ ม.ค. PAUL JOE เปิดตัว GLOSSY ROUGE ต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ 2025
๓๑ ม.ค. บริษัท โกซอฟท์ (ประเทศไทย) ได้รับเกียรติบัตรศูนย์ รับเรื่องและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคระดับดีเด่น จาก สคบ. และการรับรองมาตรฐาน ISO