นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กำลังเตรียมจัดทำแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศของ สศอ. 5 ปี (พ.ศ. 2560-2564) ตามที่รัฐบาลได้กำหนดให้ทุกกระทรวง ทบวง กรม และรัฐวิสาหกิจทุกหน่วยงาน จัดทำและปรับปรุงแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของหน่วยงาน ให้สอดคล้องกับแผนแม่บทฯ ของประเทศทั้งในด้านสาระและกรอบระยะเวลาดำเนินงาน และการปฏิรูประบบราชการตลอดจนแนวคิดยุทธศาสตร์ของรัฐบาล โดยให้ความสำคัญกับแนวคิดการพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 พ.ศ. 2555-2559 คือ การให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนและสังคมไทยให้มีคุณภาพ มีโอกาสเข้าถึงทรัพยากร และได้รับประโยชน์จากการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างเป็นธรรม รวมทั้งสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจด้วยฐานความรู้เทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ บนพื้นฐานการผลิตและการบริโภคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
"สศอ. จึงจำเป็นต้องวิเคราะห์ ทบทวน และปรับยุทธศาสตร์และแผนการดำเนินงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ภายใต้กรอบหลักในการบริหารราชการแผ่นดินและกฎหมายบ้านเมือง ควบคู่กับให้ทันต่อกระแสความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกยุคดิจิทัล เพื่อเป็นวิถีทางในการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ของ สศอ. ให้ดำเนินการไปในทิศทางที่จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนและประเทศโดยการยกระดับให้ สศอ. เป็นหน่วยงาน Smart Industrial Economic Center ที่พร้อมด้วยศักยภาพทางดิจิทัลในการปฏิบัติงานและให้บริการข้อมูลพร้อมด้วยองค์ความรู้ด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมระดับชาติ" ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กล่าว
ทั้งนี้ สศอ. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม มีหน้าที่รับผิดชอบในการเสนอแนะนโยบาย และจัดทำแผนพัฒนาอุตสาหกรรมที่ชัดเจนและมีความน่าเชื่อถือ จึงต้องมีการยกระดับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ICT ของ สศอ. สู่ระบบดิจิทัลที่มีความยั่งยืน โดยการเป็นแม่ข่าย หลักที่มีประสิทธิภาพ ในการเชื่อมโยงและการกระจายข้อมูลสารสนเทศ พร้อมทั้งระบบการบริหารจัดการข้อมูลสารสนเทศที่มีการบูรณาการกับหน่วยงานภายในและพันธมิตรภายนอก ทั้งในระดับประเทศ ในระดับ AEC และระดับสากลเพื่อให้ สศอ. มีความพร้อม 360 องศา ในการเป็นศูนย์กลางของประเทศในด้านการวิเคราะห์วิจัยเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (Smart Industrial Economic Center) สามารถติดต่อสื่อสารและให้บริการทางอินเทอร์เน็ตหรือทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) ด้วยช่องทางและอุปกรณ์ที่หลากหลาย ซึ่งรวมถึงช่องทางสื่อสังคมออนไลน์และอุปกรณ์โมบาย ในการเผยแพร่และแลกเปลี่ยนข้อมูลสารสนเทศ และองค์ความรู้ด้วยประสิทธิภาพและมาตรฐานและมีความสัมฤทธิ์ผลในแง่ของความถูกต้อง เป็นปัจจุบัน น่าเชื่อถือ และทันทุกเหตุการณ์สร้างความพึงพอใจให้กับผู้ใช้บริการทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วไป
ในการจัดทำแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารนี้ จะคำนึงถึงความต่อเนื่องของการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารตามแนวทางที่ได้วางแผนไว้ ในขณะเดียวกัน จะต้องพิจารณาปรับแผนให้สอดคล้องกับนโยบายยุทธศาสตร์รัฐบาล ซึ่งรวมถึง แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 11 กรอบนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศไทย พ.ศ. 2554-2563 หรือ ICT2020 และกรอบร่างแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศ ฉบับที่ 3 และนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาลชุดปัจจุบัน รวมทั้งมีความสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ ทิศทาง และนโยบาย ของกระทรวงอุตสาหกรรม