รองนายกฯ เผยความคืบหน้าการดำเนินงาน บอร์ด สุขภาพจิตแห่งชาติ

อังคาร ๑๔ กรกฎาคม ๒๐๑๕ ๑๑:๒๕
วันนี้ (13 ก.ค.58) ที่กรมสุขภาพจิต ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี ด้านสังคม ในฐานะประธานคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2558 ว่า การปรับปรุงแก้ไข พรบ.สุขภาพจิต พ.ศ.2551 มีความก้าวหน้ามากขึ้น ประเด็นที่ได้พิจารณาเห็นด้วย คือ การดูแลผู้ป่วยที่ไม่ใช่เพียงการรักษาเท่านั้น แต่ต้องครอบคลุมถึงการฟื้นฟูให้กลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้เป็นอย่างดี รวมทั้ง เน้นไปที่การป้องกันก่อนที่จะป่วย นอกจากนี้ ยังมีการหารือร่วมกันเกี่ยวกับสิทธิการบำบัดรักษาของผู้ป่วยจิตเวช โดยเฉพาะการลดช่องว่างของการเปลี่ยนสิทธิจากผู้พิการไปเป็นสิทธิประกันสังคม ทั้งนี้ เนื่องจากผู้ป่วยจิตเวชเมื่อเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาจนอาการดีขึ้นสามารถกลับไปทำงานใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้เช่นเดียวกับบุคคลปกติทั่วไป จำเป็นต้องเปลี่ยนการใช้สิทธิจากผู้พิการไปใช้สิทธิประกันสังคมแทน ทำให้ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยที่ต้องสำรองจ่ายก่อน บางรายต้องขาดยา ทำให้การรักษาไม่ต่อเนื่อง ส่งผลให้อาการทางจิตกำเริบมากขึ้น ก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของตนเองและผู้อื่นได้ จึงจำเป็นต้องหารือกันเพื่อช่วยลดช่องว่างที่เกิดขึ้นให้กับผู้ป่วย ทั้งการลดระยะเวลาในการเปลี่ยนสิทธิ ให้มีขั้นตอนการดำเนินงานที่เร็วขึ้น รวมทั้ง ผู้ป่วยไม่ต้องมีใบส่งตัวทุกครั้ง ไม่ต้องสำรองจ่ายก่อน ซึ่งกำลังมีการเสนอเข้าสู่คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบบริการทางการแพทย์ และนอกจากนี้ ยังได้เตรียมผลักดันรายการให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้พิการตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2552 ทั้ง 26 รายการ เข้าสู่ระบบการบริการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยกระบวนการทางการแพทย์ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งปัจจุบันได้กำหนดรายการและราคาการให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ไว้เพียง 9 รายการเท่านั้น ทั้งนี้ ก็เพื่อความเสมอภาคในการรักษาพยาบาลผู้มีความผิดปกติทางจิต อย่างไรก็ตาม ต้องมีการปรึกษาหารือถึงความเป็นไปได้อีกครั้งหนึ่ง

ด้าน นพ.ชิโนรส ลี้สวัสดิ์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การมีกฎหมายสุขภาพจิต ก็เพื่อคุ้มครองสังคมจากผู้มีความผิดปกติทางจิตที่มีพฤติกรรมก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงทั้งต่อตนเอง ผู้อื่น และทรัพย์สิน ขณะเดียวกัน ก็เป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้ป่วยจิตเวชให้ได้รับการบำบัดรักษาที่มีมาตรฐานอย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง เพื่อป้องกันหรือบรรเทาไม่ให้อาการผิดปกติทางจิตรุนแรงมากยิ่งขึ้น พระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ.2551 จึงเป็นหลักประกันอย่างหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับคนในสังคมและผู้ป่วยจิตเวช และสังคมปลอดภัยไปด้วย

ความผิดปกติทางจิตที่ควรสังเกตและควรได้รับการรักษา เช่น หูแว่ว เห็นภาพหลอน แยกตัวออกจากสังคม หวาดระแวงไร้เหตุผล คิดว่าตนเองมีความสามารถพิเศษเหนือผู้อื่น แต่งกายแปลกกว่าคนปกติ ซึ่งหากพบว่า มีอาการรุนแรง และมีภาวะอันตราย เสี่ยงต่อการทำร้ายตนเองหรือผู้อื่นหรือมีความจำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษา ขาดความสามารถในการตัดสินใจให้ความยินยอมรับการบำบัดรักษา ให้แจ้ง บุคลากรทางการแพทย์ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. พนักงานฝ่ายปกครอง/ตำรวจ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ./1669) หรือ มูลนิธิฯ ซึ่งเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งเรื่องก็ต้องนำตัวบุคคลนั้นไปยังสถานพยาบาลของรัฐโดยเร็ว เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและประเมินอาการเบื้องต้น หากการประเมินปรากฏว่า บุคคลนั้นไม่มีภาวะอันตรายหรือไม่เข้าข่ายที่จะต้องรับการบำบัดรักษา ก็ให้ดำเนินการปล่อยตัว ซึ่งการนำตัวผู้ป่วยจิตเวชเข้าสู่กระบวนการบังคับรักษานั้น ต้องถือว่าบุคคลนั้นเป็นผู้ป่วย มิใช่ผู้ต้องหา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๓๑ ม.ค. รู้จักโรคอ้วนดีแล้ว.จริงหรือ?
๓๑ ม.ค. บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี ร่วมกับ MBK ส่งมอบปฏิทินในกิจกรรม ปฏิทินเก่ามีค่า เราขอ
๓๑ ม.ค. BSRC ออกหุ้นกู้รอบใหม่ 8,000 ล้านบาท ยอดจองเกินเป้า ตอกย้ำความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน
๓๑ ม.ค. คปภ. ร่วมสัมมนาประกันภัย ครั้งที่ 29 เตรียมรับมือความเสี่ยงอุบัติใหม่ พลิกโฉมธุรกิจประกันภัยสู่ความท้าทายในอนาคต
๓๑ ม.ค. มอบของขวัญให้กับครอบครัวของคุณช่วงวันหยุดพิเศษที่ สเตย์บริดจ์ สวีท แบงค็อก สุขุมวิท
๓๑ ม.ค. OR เปิดตัว CEO คนใหม่ หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ มุ่งผลักดันไทยสู่ Oil Hub แห่งภูมิภาค พร้อมขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัล-นวัตกรรม
๓๑ ม.ค. เดลต้า ประเทศไทย คว้ารางวัล ASEAN's Top Corporate Brand ประจำปี 2567
๓๑ ม.ค. โรงแรมอลอฟท์ กรุงเทพ สุขุมวิท 11 พลิกโฉมใหม่ สุดโมเดิร์น! พร้อมเปิดตัว w xyz bar ตอกย้ำความสนุกในแบบฉบับ
๓๑ ม.ค. PAUL JOE เปิดตัว GLOSSY ROUGE ต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ 2025
๓๑ ม.ค. บริษัท โกซอฟท์ (ประเทศไทย) ได้รับเกียรติบัตรศูนย์ รับเรื่องและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคระดับดีเด่น จาก สคบ. และการรับรองมาตรฐาน ISO