ปลาค้อสมเด็จพระเทพ เป็นกลุ่มปลาค้อที่มีขนาดใหญ่ มีความโดดเด่นจากปลาค้อชนิดอื่น ๆ ด้วยการที่มีเกล็ดปกคลุมตลอดทั้งลำตัวซึ่งเป็นลักษณะของกลุ่มปลาตะเพียน บริเวณท้องมีเกล็ดแบบใส แตกต่างปลาค้อโดยทั่วไปที่มีเกล็ดฝังใต้ผิวหนัง หรือไม่ก็จะเห็นเพียงบางส่วน และมักไม่พบเกล็ดบริเวณท้องและระหว่างครีบหู เส้นข้างตัวสมบูรณ์ มีจำนวนเกล็ดบนเส้นข้างตัว แถบดำที่ฐานของครีบหลังสมบูรณ์ที่ต่างจากกลุ่มของปลาค้อชนิดอื่น ๆ ที่มีจุดหรือแถบที่ฐานของครีบหลังไม่ต่อเนื่องกัน แถบสีดำที่ฐานของครีบหางที่มีลักษณะเป็นเสี้ยวพระจันทร์ยาวต่อเนื่องกันจากด้านล่างสุดถึงด้านบนสุด ช่องปากมีขนาด 0.86-1.19 เท่าของความกว้าง ตามีขนาดค่อนข้างเล็ก 13.71±0.89% HL หนวดค่อนข้างยาวคล้ายกับปลาค้อในสกุล Nemacheilus หนวดเส้นนอกที่จะงอยปากยาวถึงตาและหนวดที่ขากรรไกรยาวถึง ? ของความยาวหัว ครีบหลังอยู่ในตำแหน่งค่อนมาทางด้านหลังของจุดเริ่มต้นครีบท้อง มีก้านครีบอ่อนของครีบหลัง 6½ ถึง 7½ ก้าน ครีบก้นมีก้านครีบอ่อนที่แตกปลาย 5½ ก้าน ครีบท้องมีก้านครีบอ่อนที่แตกปลาย 7-8 ก้าน มีเกล็ดพิเศษ
ที่ฐานครีบท้อง ครีบหูกลมมีก้านครีบอ่อนที่แตกปลาย 8-10 ก้าน รูก้นอยู่ใกล้กับครีบก้นมากกว่าครีบท้อง ด้านบนและด้านล่างของคอดหางมีสันยกตัวสูงขึ้นเล็กน้อย ครีบหางมีก้านครีบอ่อนที่แตกปลาย 8+8 ก้าน ครีบหางเว้าเข้าเล็กน้อย มีจำนวนข้อกระดูกสันหลังส่วนท้อง 19 ข้อ และมีข้อกระดูกสันหลังส่วนหาง 11 ข้อ
สีในขณะมีชีวิต ลำตัวมีสีพื้นเป็นสีน้ำตาล และมีลายรูปทรงอิสระสีส้มสดคล้ายเสือ ส่วนท้ายทอยมีรูปสามเหลี่ยม ระหว่างตามีรูปร่างคล้ายมงกุฎสีส้ม เป็นที่มาของชื่อสามัญว่า "Crown scaly stream loach" ด้านล่างของปากมีแต้มสีดำ แถบดำที่บริเวณฐานของครีบหางเป็นพระจันทร์เสี้ยว แถบสีดำที่ฐานของครีบหลังยาวต่อเนื่องกัน ครีบทุกครีบสีใส ครีบหูและครีบท้องใส สีในขณะที่เก็บรักษาในแอลกอฮอล์ ลำตัวมีสีนำตาลทึบแสง ส่วนของสีส้มสดหายไป
ความแตกต่างของเพศ เพศผู้มีแผ่นหนังใต้ตาเป็นรูปช้อน ครีบหูหนากว่าและมีตุ่มสิวจำนวนมาก ครีบหูมีความยาวมากกว่า ก้านครีบที่แตกปลายก้านแรกของครีบหูในเพศผู้มีขนาดใหญ่กว่าเพศเมีย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ สุวรรณรักษ์ ผู้ค้นพบ กล่าวว่า "ปลาค้อชนิดนี้ เก็บตัวอย่างได้จากห้วยน้ำปาน บ้านน้ำคูน หมู่ 2 ตำบลภูคา อำเภอปัว จังหวัดน่าน ในลำธารขนาดเล็ก พื้นท้องน้ำเป็นหินขนาดใหญ่ มีน้ำน้อย ด้านบนมีต้นไม้ใหญ่ขึ้นปกคลุม ริมตลิ่งชัน น้ำใส ระดับความสูงจากระดับทะเลปานกลาง 721 เมตร ลำธารมีความกว้าง 3 เมตร ความลึก 20 เซนติเมตร ชนิดปลาที่พบด้วยกันในสถานที่เก็บตัวอย่าง ได้แก่ ปลาค้อน่าน และปลาค้างคาวดอยตุง ตัวอย่างต้นแบบเก็บที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาทางน้ำ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ (Maejo Aquatic Resources Natural Museum: MARNM 5555) ปัจจุบันยังพบการแพร่กระจายเฉพาะในลุ่มน้ำน่านตอนบนเท่านั้น ซึ่งเป็นต้นน้ำสำคัญของประเทศไทย เพราะปลาเหล่านี้ สามารถใช้เป็นดัชนีบ่งชี้ความสมบูรณ์ของธรรมชาติได้เป็นอย่างดี เนื่องจากส่วนใหญ่แล้วอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติที่สะอาด กินแมลงน้ำและตะไคร่น้ำเป็นอาหาร โดยแมลงน้ำและตะไคร่น้ำจะต้องอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่สะอาดเช่นกัน พันธุ์ปลาค้อดังกล่าวนี้มีจำนวนน้อยมาก จึงอยากฝากให้ช่วยกันรักษาทรัพยากรธรรมชาติ รักษาป่า รักษาแหล่งน้ำธรรมชาติ ขณะนี้กำลังหาแนวทางเพื่อการอนุรักษ์แหล่งน้ำธรรมชาติสร้างความยั่งยืนของความหลากหลายทางชีวภาพน้ำ ดิน และป่าไม้ร่วมกับชุมชนในพื้นที่ต่อไป ร่วมกัน ดูแลป่า ดูแล ปลาค้อสมเด็จพระเทพ"
เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมายุ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยแม่โจ้จึงได้ขอพระราชทานนามชื่อพันธุ์ปลาค้อที่ค้นพบใหม่นี้ว่า "Schistura sirindhornae" ชื่อสามัญว่า Crown Scaly Stream Loach ชื่อไทยว่า "ปลาค้อสมเด็จพระเทพ" พระองค์ท่านทรงพระราชทาน พระราชานุญาต โดยให้ศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับ การขยายพันธุ์ รวมทั้งการอนุรักษ์ เพื่อจัดทำรายงานรวบรวมกราบบังคมทูลประกอบพระราชดำริต่อไป นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อมหาวิทยาลัยแม่โจ้ อย่างหาที่สุดมิได้..