เนื่องจากขณะนี้เป็นช่วงที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ฤดูฝน ฝนที่ตกเป็นช่วงๆจะยิ่งเป็นการเติมน้ำในแอ่งน้ำหรือทำให้มีน้ำขังอยู่ตามเศษวัสดุ ภาชนะต่างๆ จานรองกระถางต้นไม้ ที่อาจมีไข่ยุงลายสะสมอยู่น้ำฝนที่มาเติมลงในภาชนะจะท่วมถึงไข่ยุงและแตกตัวเป็นลูกน้ำ และเป็นยุงลายตัวเต็มวัยโดยจะใช้เวลาทั้งหมด 7-10 วันก็จะยิ่งเป็นการเพิ่มปริมาณยุงลายให้มีมากขึ้น โดยคาดการณ์ว่าในปี 2558 นี้จะมีผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าจากปีที่ผ่านมา และคาดว่าช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม จะมีผู้ป่วยมากสุดประมาณเดือนละ10,000–13,000 รายหากไม่ร่วมมือกันควบคุมอย่างเข้มแข็งปีนี้อาจจะมีผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก 60,000–70,000 ราย จากเมื่อปี 2557 ที่ผ่านมามีผู้ป่วย 40,999 ราย
นายแพทย์โสภณ กล่าวย้ำว่า การควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออกให้ได้ผลจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกัน อาศัยความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐฯ เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำในชุมชน ครู นักเรียน และประชาชนในพื้นที่ ช่วยกันกำจัดลูกน้ำยุงลายทุก 5-7 วัน ร่วมกันทำกิจกรรม BIG CLEANING DAY "เก็บให้เกลี้ยงไม่เลี้ยงยุงลาย" ได้แก่ 1.เก็บบ้านให้สะอาดปลอดโปร่งโล่งไม่ให้ยุงลายเกาะพัก 2.เก็บน้ำให้สนิทมิดชิดไม่ให้ยุงลายลงไปวางไข่ และ 3.เก็บขยะเศษภาชนะรอบๆบ้านและชุมชนที่จะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยเน้นในพื้นที่ 6 ร. คือ 1.โรงเรือน(บ้าน/ชุมชน) 2.โรงเรียน(สถานศึกษา/สถานเลี้ยงเด็กเล็ก) 3.โรงพยาบาล 4.โรงแรม/รีสอร์ท 5.โรงงาน/กลุ่มอุตสาหกรรม และ 6.โรงธรรม (วัด/มัสยิด/โบสถ์)
"โรคไข้เลือดออกมียุงลายเป็นพาหะ สามารถเป็นได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่อาการของโรคไข้เลือดออก คือ มีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร หน้าแดง อาจพบจุดเลือดที่ผิวหนัง มักจะไม่ไอ ไม่มีน้ำมูกเหมือนไข้หวัด หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์ ปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัสไข้เลือดออกเป็นการรักษาตามอาการ การป้องกันตัวเองไม่ให้ถูกยุงลายกัดและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย จึงถือว่าเป็นการป้องกันไข้เลือดออกที่ได้ผลดีที่สุดหากประชาชนมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422" นายแพทย์โสภณ กล่าวปิดท้าย