2. บุคลากรในเรือ (ไต๋เรือ นายท้ายเรือ ช่างเครื่อง) จะต้องมีบัตรประชาชน และนายท้ายเรือและนายช่างเครื่องจะต้องมีใบประกาศ อีกทั้งในเรือยังต้องมีทะเบียนลูกจ้าง ใบอนุญาตทำงาน สัญญาจ้างของแรงงานบนเรือ ซึ่งเป็นไปตามที่กฎหมายบังคับไว้ อย่างไรก็ตาม ไต๋เรือ และนายท้ายเรือ จะต้องเป็นคนไทยเท่านั้น ตาม พ.ร.บ.สิทธิการทำประมงในเขตน่านน้ำไทย พ.ศ.2482 และเกี่ยวข้องกับความมั่นคง ส่วนช่างเครื่อง ให้ผ่อนผันเป็นคนต่างด้าวได้ แต่ต้องไปแก้ไขกฎระเบียบแรงงานตาม MOU ที่กำหนดไว้ว่าคนต่างด้าวต้องเป็นกรรมกรหรือแม่บ้านเท่านั้น นอกจากนี้ ในเรือประมงพื้นบ้าน ขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส ผ่อนผันให้นายท้ายเรือและนายช่างเครื่องเป็นคนเดียวกันได้ แต่ต้องเป็นคนไทยเท่านั้น
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรียังได้มอบหมายกรมประมงหาแนวทางในการออกอาชญาบัตรแบบใบเดียวหลายเครื่องมือ และลดค่าอากรอาชญาบัตรให้เรือประมงพื้นบ้าน อีกทั้ง ให้เร่งดำเนินการจัดฝึกอบรมความรู้เรื่องการเขียน Fishing Logbook ให้กับผู้ประกอบการเรือประมงขนาด 30 ตันกรอส ตลอดจนหามาตรการบรรเทาผลกระทบที่เหมาะสมด้วย
ด้านนายจุมพล สงวนสิน อธิบดีกรมประมง กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการประมง ว่าขณะนี้สถานการณ์โดยทั่วไปเข้าสู่สภาวะปกติแล้วเรือประมงออกทำการประมงมากขึ้น ยกเว้นในพื้นที่ที่ทะเลมีคลื่นลมแรงจัดเรือขนาดเล็กหยุดออกทำการประมง โดยเฉพาะในพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน เช่น สตูล ตรัง กระบี่ เป็นต้น ในพื้นที่อื่น ๆ เรือประมงออกทำการประมงตามปกติ ส่วนการแจ้งเข้า – ออกเรือประมง ณ ศูนย์ PIPO พบว่าเรือประมงขนาด 30 ตันกรอสขึ้นไปมีการแจ้งเข้า – ออก มากขึ้น
ขณที่เรือประมงที่หยุดทำการประมงก็มีจำนวนลดลง โดยที่ยังไม่สามารถออกทำประมงได้ส่วนใหญ่เป็นเรือประมงที่ยังไม่มีใบอนุญาตทำการประมงหรือใบอนุญาตอื่นยังไม่ครบถ้วน ซึ่งส่วนมากเป็นเรือที่ใช้เครื่องมืออวนลาก อวนรุน และเครื่องมือทำการประมงปลากะตัก แต่ก็มีแนวโน้มที่ดีว่าเรือประมงกลุ่มดังกล่าวเริ่มมีแนวคิดที่จะเปลี่ยนเครื่องมือเป็นเครื่องมือประมงที่ทางราชการอนุญาต และพยายามแก้ไขในส่วนที่ยังไม่ถูกต้องเพื่อให้สามารถออกทำการประมงได้ โดยมีข้อเสนออยากให้รัฐสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อใช้ปรับเปลี่ยนเครื่องมือ
นอกจากนี้เรือประมงบางลำอยู่ระหว่างเข้ารับการอบรมเพื่อรับใบอนุญาตและใบประกาศต่าง ๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่วนสถานการณ์ผู้ประกอบการแพปลาและโรงงานน้ำแข็งเปิดทำการตามปกติ และมีปริมาณสัตว์น้ำเข้าตลาดเพิ่มมากขึ้น ราคาสัตว์น้ำส่วนใหญ่อยู่ในระดับปกติ
สำหรับข้อมูลการให้บริการของหน่วยบริการเคลื่อนที่ซึ่งได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. ถึงปัจจุบัน พบว่า มีการให้บริการรับคำขอและออกใบอนุญาตทำการประมง 1,851 ฉบับ ใบทะเบียนเรือไทย 1,224 ลำ ใบอนุญาตใช้เรือ 1,040 ลำ ใบอนุญาตนายท้ายเรือ 6,215 ราย ใบอนุญาตช่างเครื่อง 5,649 ราย ใบอนุญาตทำงานในเรือ 687 ราย และใบอนุญาตอื่น เช่น ยกเลิกทะเบียนเรือ ขอเปลี่ยนแปลงขนาดเรือ เครื่องยนต์ รวม 132 ลำ ซึ่งหลังจากวันที่ 15 ก.ค.นี้ ผู้ประกอบการเรือประมงยังสามารถไปขอดำเนินการจดทะเบียนต่างๆ ได้ ณ ที่สำนักงานเจ้าท่า และสำนักงานประมงของแต่ละจังหวัด ส่วนผู้ประกอบการเรือประมงลำใดที่มีการดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว แต่ยังไม่ได้มาแสดงตนตามการสำรวจประมงครั้งที่ผ่านมา (15-25 มิถุนายน 2558) ก็ขอให้ไปแสดงตนภายใน 31 กรกฎาคม 2558 ณ ศูนย์ PIPO ทั้ง 28 ศูนย์ ใน 22 จังหวัดชายทะเล เพื่อทางกรมประมงจะได้นำข้อมูลจำนวนเรือประมงมาคำนวณหาค่าผลจับสูงสุดที่ยั่งยืน หรือ MSY (ค่าความเหมาะสมของปริมาณทรัพยากรกับจำนวนเรือ) ซึ่งเป็นแนวทางในการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ยังเพื่อประโยชน์ทางสิทธิในการเข้าสู่ระเบียบของการช่วยเหลือของทางราชการกรณีเมื่อเกิดผลกระทบต่างๆ และที่สำคัญที่สุดหากเรือประมงไม่รับการขึ้นทะเบียนภายใน 31 ก.ค.นี้ จะไม่สามารถออกทำการประมงได้
สุดท้าย อยากจะเรียนกับพี่น้องชาวประมง และประชาชน ว่าการดำเนินมาตรการที่เข้มงวดของทางภาครัฐนั้น มุ่งหวังให้การปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย (IUU) ของประเทศไทย สำเร็จตามแนวทางที่วางไว้ นอกจากจะช่วยปลดล็อคใบเหลืองจากการประมงของไทย และสิ่งที่สำคัญที่สุด เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในท้องทะเลไทยเกิดความสมดุลกับธรรมชาติ มีสัตว์น้ำไว้กินไว้ใช้อย่างยั่งยืน จึงขอเชิญชวนเจ้าของเรือประมงทุกท่าน มาดำเนินการให้ถูกต้องตามข้อกำหนดดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น หากมีข้อสงสัยติดต่อสอบถามได้ที่ศูนย์เฉพาะกิจกรมประมงเพื่อติดตามสถานการณ์เรือประมง ชาวประมง และผลกระทบ หมายเลขโทรศัพท์ติดต่อ :061-780-6888, 02-5620546 ตลอด 24 ชั่วโมง