นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายการบริหารจัดการน้ำแก่สำนักชลประทานในเขตลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด หลังคณะรัฐมนตรีมีมติลดการระบายน้ำจาก 4 เขื่อนหลักลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาลง เหลือ18 ล้านลูกบาศเมตรต่อวันซึ่งจะเริ่มดำเนินการลดการระบายน้ำในวันพรุ่งนี้ (16 ก.ค.) ว่า ได้มอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปเร่งหามาตราการแก้ไขปัญหาใน 4 เรื่องหลัก ได้แก่ 1การสำรวจพื้นที่เสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบและต้องให้ความช่วยเหลือ 2.การบริหารจัดการหมุนเวียนน้ำกลับมาใช้ใหม่หรือการย้ายน้ำจากโครงการชลประทานอื่นมาช่วยเหลือโครงการชลประทานที่มีปัญหา 3 การใช้น้ำบาดาลมาช่วยในพื้นที่บางจุดที่สามารถใช้ปลูกพืชชนิดอื่น นอกเหนือจากข้าวได้ รวมทั้งประสานความร่วมมือ 4 กรมหลัก ได้แก่ กรมชลประทาน กรมส่งเสริมการเกษตร กรมข้าว และกรมพัฒนาที่ดิน เพื่อให้เข้าถึงปัญหาได้ทั่วถึงและประสานงานกันได้ทันที
"กรมชลประทานต้องไปสำรวจดูว่าพื้นที่เสี่ยงอยู่ตรงไหนให้แน่ชัด เพราะนโยบายของรัฐบาลคือการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจริงๆ ซึ่งขณะนี้ทางเจ้าพระยาตอนบนหรือภาคเหนือตอนล่าง หลายพื้นที่ปลูกข้าวนาปีเริ่มจะมีการเก็บเกี่ยวแล้ว จึงไม่มีความเสียงในเรื่องปัญหาน้ำแล้ว สำหรับพื้นที่เสี่ยงเราต้องดูสภาพข้อเท็จจริง ส่วนช่วงท้ายน้ำ เช่น จังหวัดปทุมธานี อยุธยา ต้องสำรวจพื้นที่จริงให้ได้ว่ามีการปลูกข้าวกันอย่างไร ถึงจะประเมินได้ว่าจุดไหนเสี่ยง เมื่อได้จุดเสี่ยงเรียบร้อยแล้ว ก็ต้องหามาตราการบรรเทาปัญหาต่างๆ ได้ ส่วนในปีหน้าจะต้องพิจารณาปรับโครงการการเพาะปลูกข้าวในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหม่ เพื่อให้เกิดความสมดุลกับปริมาณน้ำมากขึ้น" นายปีติพงศ์ กล่าว
ด้านนายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการประเมินผลกระทบที่อาจแกิดขึ้นหลังลดปริมาณการปล่อยน้ำใน 4เขื่อนหลัก คาดว่าจะมีพื้นที่ปลูกข้าวได้รับผลกระทบประมาณ 1.4 ล้านไร่ซึ่งถ้ามีฝนตกลงมาในช่วงนี้ก็จะมีพื้นที่เสี่ยงลดลง จากจำนวนพื้นที่ปลูกข้าวปัจจุบันจำนวน 4.9 ล้านไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูกบนพื้นที่ดอนในช่วงปลายคลองชลประทานและปลูกล่าช้ากว่าจุดอื่น โดยอาจเกิดผลกระทบในช่วงระยะ 20 วันก่อนเข้าสู่ช่วงฝนปกติตามที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งจากนี้ไปกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จะต้องเร่งลงทำความเข้าใจกับเกษตรกร และอีกหนึ่งมาตรการสำคัญ คือ ยังจะต้องควบคุมสถานีสูบน้ำในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา กว่า355 สถานีไม่ให้มีการสูบน้ำเพิ่มเติมสำหรับภาคเกษตรในระยะ 1 – 2 วันนี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าปริมาณน้ำที่เหลืออยู่จริงมีเท่าไหร่ และลำดับความสำคัญในการส่งน้ำ ซึ่งจะเน้นเพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศน์และผลักดันน้ำเค็มเป็นอันดับแรก โดยจากแผนการระบายน้ำจาก 4 เขื่อนหลัก จะเป็นน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคจำนวน 8 ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน ขณะที่การจัดสรรน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศน์จำนวน 5 ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน