มูลนิธิสายใจไทยฯ มอบ KTIS สานต่อศูนย์เรียนรู้การปลูกอ้อยตั้งเป้าผลผลิต 20 ตันอ้อยต่อไร่ เป็นแบบอย่างให้เกษตรกร

อังคาร ๒๑ กรกฎาคม ๒๐๑๕ ๑๕:๓๒
มูลนิธิสายใจไทยฯ ลงนามในบันทึกข้อตกลงกับกลุ่ม KTIS มอบหมายโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ ดูแลศูนย์เรียนรู้การเพาะปลูกอ้อย และจัดทำแปลงสาธิตบนพื้นที่ 50 ไร่ ในนิคมสหกรณ์สวรรคโลก จ.สุโขทัย เป็นแหล่งเรียนรู้ในการเพาะปลูกอ้อยที่ทันสมัยให้แก่สมาชิกหมู่บ้านสายใจไทย เกษตรกร เยาวชนและผู้สนใจ โดยเฉพาะมุ่งหวังให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยใช้เป็นต้นแบบในการทำไร่อ้อยให้เป็นอาชีพที่ยั่งยืน โดยกลุ่ม KTIS ตั้งเป้าสร้างผลผลิตให้ได้ไม่ต่ำกว่า 20 ตันอ้อยต่อไร่

มูลนิธิสายใจไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลง กับ บริษัท น้ำตาลไทยเอกลักษณ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทน้ำตาลในกลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS เพื่อมอบให้โรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ดำเนินโครงการแปลงสาธิตและศูนย์เรียนรู้การเพาะปลูกอ้อยที่จังหวัดสุโขทัย

นายปรีชา อรรถวิภัชน์ ประธานกรรมการ KTIS เปิดเผยว่า โครงการแปลงสาธิตและศูนย์เรียนรู้การเพาะปลูกอ้อยนี้อยู่บนพื้นที่ 50 ไร่ ของมูลนิธิสายใจไทยฯ ที่ต้องการจัดทำแปลงสาธิตและศูนย์เรียนรู้การทำไร่อ้อยสำหรับสมาชิกหมู่บ้านสายใจไทย เกษตรกรชาวไร่อ้อยบริเวณใกล้เคียง นักเรียนนักศึกษา ตลอดจนผู้สนใจทั่วไป ได้เข้ามาฝึกอบรมและดูงาน เพื่อให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยได้เรียนรู้ว่า การทำไร่อ้อยอย่างถูกวิธีและได้ผลผลิตต่อไร่สูงจะต้องทำอย่างไร และสามารถนำไปพัฒนาการทำไร่อ้อยของตนเองให้ประสบความสำเร็จและเป็นอาชีพที่ยั่งยืน

"โครงการนี้ มูลนิธิสายใจไทยฯ ซึ่งเชื่อมั่นในศักยภาพกระบวนการปลูกอ้อย บำรุงรักษาอ้อยและเก็บเกี่ยวอ้อยด้วยหลักวิชาการที่ทันสมัยของกลุ่ม KTIS ได้มอบหมายให้ฝ่ายไร่โรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ของเราทำต่อเนื่องมากว่า 4 ปีแล้ว และได้รับผลที่ดียิ่งตามความประสงค์ มีเกษตรกร นักเรียนนักศึกษาและผู้สนใจทั่วไปมาเยี่ยมชมอยู่เสมอ โดยเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา ผลผลิตอ้อยต่อไร่ทั่วๆ ไป อยู่ที่ประมาณ 9 ตันต่อไร่ เราตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะทำให้ได้ 13 ตันต่อไร่ ซึ่งผลที่ได้จริงเฉลี่ย 14.73 ตันต่อไร่ ถือว่าบรรลุเป้าหมาย จึงได้มีการทำข้อตกลงต่อเนื่องอีก 5 ปี โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะต้องได้ผลผลิตไม่ต่ำกว่า 20 ตันอ้อยต่อไร่" นายปรีชากล่าว

นายประพันธ์ ศิริวิริยะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม KTIS กล่าวเสริมว่า ที่ผ่านมาแหล่งเรียนรู้ที่เป็นต้นแบบในการทำไร่อ้อยที่ถูกวิธียังมีน้อย ทำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยไม่สามารถพัฒนาผลผลิตอ้อยได้ดีเท่าที่ควร ซึ่งมูลนิธิสายใจไทยฯ เล็งเห็นว่า กลุ่ม KTIS ซึ่งประกอบธุรกิจโรงงานน้ำตาลหลายโรง รวมทั้งโรงงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์มีระบบการดูแลชาวไร่อ้อยที่มีความพร้อมทั้งด้วยเทคโนโลยีวิชาการอ้อยที่ทันสมัยและมีความผูกพันเอาใจใส่ในการส่งเสริมให้ความรู้แก่ชาวไร่อ้อยคู่สัญญาอย่างเป็นรูปธรรมตลอดมา เช่น การจัดทำโครงการโรงเรียนเกษตรกรอ้อย โครงการสร้างทายาทชาวไร่อ้อย โครงการหมู่บ้านอ้อยสด โครงการหมู่บ้านดินดีมากมีอินทรียวัตถุ โครงการ บ-ว-ร (บ้าน-วัด-โรงเรียน) + โรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ การคิดค้นต้นแบบระบบน้ำหยดสำหรับแปลงอ้อยในประเทศไทย การจัดหารถตัดอ้อยให้ชาวไร่อ้อย เป็นต้น ทางมูลนิธิฯ จึงให้เกียรติและให้ความไว้วางใจในการดำเนินโครงการนี้

ทั้งนี้ ในการดำเนินโครงการดังกล่าว KTIS จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการสร้างองค์ความรู้ให้กับสมาชิกหมู่บ้านสายใจไทย เกษตรกรชาวไร่อ้อย นักเรียนนักศึกษา และผู้สนใจทั่วไป เพื่อให้ทราบถึงวิธีการเพาะปลูกอ้อยอย่างถูกวิธี การใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้ในการเพาะปลูกบำรุงรักษาและเก็บเกี่ยว เพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิตอ้อยต่อไร่ เพื่อรักษาความยั่งยืนในการทำเกษตรให้แก่ชาวไร่อ้อยผ่านการจัดทำแปลงสาธิตการเพาะปลูกอ้อยและศูนย์การเรียนรู้การเพาะปลูกอ้อย สำหรับแปลงสาธิตและศูนย์เรียนรู้การเพาะปลูกอ้อยนี้ ตั้งอยู่ที่หมู่ 3 บ้านทุ่งมหาชัย ตำบลคลองมะพลับ อำเภอศรีนคร จังหวัดสุโขทัย ซึ่งมูลนิธิสายใจไทยฯ ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมภาคการเกษตร อันเป็นอาชีพที่สำคัญและเป็นความสามารถในการแข่งขันหลักของประเทศไทย จึงได้ให้ใช้ที่ดิน 50 ไร่ เพื่อดำเนินโครงการนี้

นายประพันธ์ กล่าวด้วยว่า บริษัทฯ จะจัดอบรมให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยใน 5 อำเภอของจังหวัดสุโขทัย ได้แก่ อำเภอสวรรคโลก อำเภอศรีสัชนาลัย อำเภอศรีนคร อำเภอศรีสำโรง และอำภอทุ่งเสลี่ยม และจัดทัศนศึกษาดูการทำไร่อ้อยในขั้นตอนต่างๆ ตั้งแต่การเตรียมการก่อนการเพาะปลูก การปรับปรุงบำรุงดิน การปลูกอ้อย การบำรุงรักษาอ้อย การสร้างอินทรียวัตถุในดินโดยการปลูกพืชตระกูลถั่ว ซึ่งเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อม การเก็บเกี่ยวอ้อยโดยใช้รถตัดอ้อยเพื่อให้ได้อ้อยสด และการบำรุงตออ้อย

"ต้องขอขอบคุณมูลนิธิสายใจไทยฯ ที่เห็นความสำคัญของการพัฒนาภาคการเกษตร โดยเฉพาะในเรื่องอ้อยซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญสำหรับการทำน้ำตาล เอทานอล และผลิตไฟฟ้า และเชื่อว่าโครงการแปลงสาธิตและศูนย์เรียนรู้การเพาะปลูกอ้อยที่ใช้เป็นเหล่งเรียนรู้การเพาะปลูกอ้อยที่ถูกวิธีให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยเยาวชนและผู้สนใจนี้ จะเป็นประโยชน์ในการเพิ่มผลผลิตอ้อยและสร้างความมั่นคงให้กับอาชีพเกษตรกรได้ในระยะยาว คณะผู้บริหาร และพนักงานฝ่ายไร่กลุ่ม KTIS โดยเฉพาะของโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ที่เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบเรื่องนี้จะตั้งใจทุ่มเทกำลังความสามารถอย่างที่สุด เพราะเหนืออื่นใดเราถือว่าการดำเนินงานเรื่องนี้เป็นการตอบแทนบุญคุณแผ่นดินของเราด้วย" นายประพันธ์กล่าว

นายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายธุรกิจชีวพลังงานและผลิตภัณฑ์ บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ซื้อรถตัดอ้อยเพิ่มเติมในปีนี้อีก 13 คัน พร้อมทั้งได้ซื้อรถเก็บใบอ้อยเพิ่มอีก 3 คัน ซึ่งจะทำให้สามารถเพิ่มปริมาณอ้อยสด ลดอ้อยไฟไหม้ และได้ใบอ้อยมาใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวมวลในการผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากขึ้น

"กลุ่ม KTIS ได้รณรงค์และผลักดันให้ชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดส่งเข้าโรงงานซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากพี่น้องชาวไร่อ้อยเป็นอย่างดี แต่ที่ผ่านมายังติดปัญหาเรื่องแรงงานตัดอ้อยที่นับวันจะขาดแคลน กลุ่มเราได้เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องดังกล่าวจึงได้ลงทุนซื้อรถตัดอ้อยเข้ามาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาความขาดแคลนทางด้านแรงงานตัดอ้อย โดยในปัจจุบันกลุ่มเรามีรถตัดอ้อยมากถึง 78 คัน และในปีนี้ได้ซื้อเพิ่มอีก 13 คัน ดังนั้นในฤดูการผลิต 58/59 ที่จะมาถึงกลุ่มเราจะมีรถตัดอ้อยจำนวน 91 คัน ซึ่งยังไม่นับรวมในส่วนของพี่น้องชาวไร่อ้อยที่มีอีกเป็นจำนวนมาก" นายณัฎฐปัญญ์กล่าว

นอกจากนี้ ทางกลุ่มบริษัทฯ ยังมีการรณรงค์ให้ความรู้กับพี่น้องชาวไร่อ้อยเพื่อให้เห็นคุณค่าและความสำคัญของอ้อยสด ไม่ว่าจะเป็นโครงการหมู่บ้านอ้อยสด โครงการสร้างแรงจูงใจด้วยการมอบรางวัลอ้อยสดประจำปี และโครงการอื่นๆ อีกหลายโครงการ และที่สำคัญในปีนี้กลุ่ม KTIS ก้าวต่อไปในระดับที่คิดค้นรณรงค์การนำใบอ้อย มาใช้ประโยชน์ในการเป็นเชื้อเพลิง จึงได้มีโครงการรับซื้อใบอ้อยเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับพี่น้องชาวไร่อ้อยอีกด้วย และเชื่อว่าโครงการนี้จะได้ผลในการเพิ่มสัดส่วนอ้อยสดและลดสัดส่วนอ้อยไฟไหม้ลงได้เป็นอย่างมาก เพราะใช้เหตุผลจูงใจง่ายๆ เพิ่มเติมว่าหากอ้อยถูกไฟไหม้ชาวไร่อ้อยก็จะขาดรายได้จากการขายใบอ้อย

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายธุรกิจชีวพลังงานและผลิตภัณฑ์ KTIS กล่าวด้วยว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา ในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย จะเห็นได้ว่า อ้อยที่ชาวไร่ได้ตัดส่งมาขายให้กับทางโรงงาน มีใบอ้อยจำนวนมากที่สูญเสียไปกับการถูกไฟไหม้ และอีกจำนวนมากที่ไม่ได้นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ ทาง KTIS จึงได้เริ่มโครงการรับซื้อใบอ้อยจากพี่น้องชาวไร่อ้อยอย่างเอาจริงเอาจัง ซึ่งในปีการผลิตที่จะถึงนี้กลุ่ม KTIS มีรถเก็บใบอ้อยรวมถึง 6 คัน ที่ได้สั่งซื้อจากต่างประเทศ นอกจากนั้นยังได้สั่งซื้อภายในประเทศอีกหลายคันรวมแล้วเป็นเงินลงทุนหลายสิบล้านบาท โดยคาดว่าในฤดูการผลิต 58/59 ทางกลุ่มน่าจะจัดเก็บใบอ้อยได้ประมาณ 2 แสนกว่าตัน โดยกลุ่ม KTIS ก็ได้ประโยชน์ในการนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าได้ประมาณ 145 ล้านกิโลวัตต์ ซึ่งจะก่อให้เกิดรายได้ของกลุ่มเพิ่มขึ้น รวมทั้งการลดความสูญเสียและเพิ่มรายได้ให้พี่น้องชาวไร่อ้อย อีกทั้งก่อให้เกิดประโยชน์ต่อระบบและต่อส่วนรวมเป็นอย่างมากโดยเฉพาะในด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๓๑ ม.ค. รู้จักโรคอ้วนดีแล้ว.จริงหรือ?
๓๑ ม.ค. บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี ร่วมกับ MBK ส่งมอบปฏิทินในกิจกรรม ปฏิทินเก่ามีค่า เราขอ
๓๑ ม.ค. BSRC ออกหุ้นกู้รอบใหม่ 8,000 ล้านบาท ยอดจองเกินเป้า ตอกย้ำความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน
๓๑ ม.ค. คปภ. ร่วมสัมมนาประกันภัย ครั้งที่ 29 เตรียมรับมือความเสี่ยงอุบัติใหม่ พลิกโฉมธุรกิจประกันภัยสู่ความท้าทายในอนาคต
๓๑ ม.ค. มอบของขวัญให้กับครอบครัวของคุณช่วงวันหยุดพิเศษที่ สเตย์บริดจ์ สวีท แบงค็อก สุขุมวิท
๓๑ ม.ค. OR เปิดตัว CEO คนใหม่ หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ มุ่งผลักดันไทยสู่ Oil Hub แห่งภูมิภาค พร้อมขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัล-นวัตกรรม
๓๑ ม.ค. เดลต้า ประเทศไทย คว้ารางวัล ASEAN's Top Corporate Brand ประจำปี 2567
๓๑ ม.ค. โรงแรมอลอฟท์ กรุงเทพ สุขุมวิท 11 พลิกโฉมใหม่ สุดโมเดิร์น! พร้อมเปิดตัว w xyz bar ตอกย้ำความสนุกในแบบฉบับ
๓๑ ม.ค. PAUL JOE เปิดตัว GLOSSY ROUGE ต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ 2025
๓๑ ม.ค. บริษัท โกซอฟท์ (ประเทศไทย) ได้รับเกียรติบัตรศูนย์ รับเรื่องและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคระดับดีเด่น จาก สคบ. และการรับรองมาตรฐาน ISO