นายชัยยุทธ สันทนานุการ รักษาการในตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาดและการขาย บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT เปิดเผยว่า CAT ขานรับนโยบาย Digital Economy ของภาครัฐ ด้วยการพัฒนาระบบ e-Logistics & DC, SOA Platform ภายใต้ชื่อบริการ “CAT Supply Chain Visibility” ให้สามารถเชื่อมโยงและรองรับการทำงานในกระบวนการสั่งซื้อและรับคำสั่งซื้อระหว่างโรงพยาบาล กับผู้จัดจำหน่ายหลักทางด้านยา เวชภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ ผ่านการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์อย่างเต็มรูปแบบ เริ่มตั้งแต่กระบวนการรวบรวมแหล่งวัตถุดิบ การจัดหา การจัดซื้อ กระบวนการผลิต กระบวนการขนส่ง กระบวนการคลังสินค้า ผู้จำหน่าย จนถึงผู้บริโภค รวมทั้งกระบวนการชำระเงินที่ถูกต้องและรวดเร็ว ตลอดจนลดข้อผิดพลาดในแต่กระบวนการให้น้อยที่สุดเป็นสำคัญ
นายแพทย์นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า องค์การเภสัชกรรม ได้เห็นชอบร่วมกันจัดทำระบบกลางแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านกลุ่มอุตสาหกรรมยาของประเทศไทย (Pharmacy Trade Exchange – PTX) ด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับลูกค้าขององค์การเภสัชกรรม เข้ากับบริการ e-Logistics & DC, SOA Platform ผ่านระบบ e-Supply Chain และระบบ e-Logistics ของ CAT เพื่อช่วยให้องค์การเภสัชกรรมสามารถบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ในแง่อุปสงค์และอุปทานทั้งภายในและภายนอกองค์กร (Supply Chain Management) ในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีการเก็บรวบรวมข้อมูลของหน่วยงานด้านสาธารณสุขทั้งของรัฐและเอกชน ร้านค้าขององค์การเภสัชกรรม และลูกค้า เพื่อให้การวางแผนและการจัดการของกิจกรรมทั้งหมดที่มีความเกี่ยวข้อง
นายแพทย์กุลเดช เตชะนภารักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหาดใหญ่ กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลหาดใหญ่ กับผู้จัดจำหน่ายหลักทางด้านยา เวชภัณฑ์และผลิตภัณฑ์อื่นๆ กับ CAT ผ่านระบบ e-Logistics & DC, SOA Platform ภายใต้ชื่อบริการ CAT Supply Chain Visibility ครั้งนี้ นอกจากจะช่วยให้โรงพยาบาลหาดใหญ่สามารถบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ในแง่ของอุปสงค์และอุปทานทั้งภายในและภายนอกองค์กร (Supply Chain Management) ในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังรองรับการวางแผนและการจัดการของกิจกรรมทั้งหมดที่มีความเกี่ยวข้องกัน เช่น สามารถดำเนินการสั่งซื้อและรับคำสั่งซื้อด้วยระบบ Paper Less มีการตรวจสอบสถานะ (e–Traceability) การสั่งซื้อได้ครบทุกขั้นตอน ลดความผิดพลาดจากกระบวนการทำงาน ลดค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าโทรศัพท์ และค่าโทรสาร ในการยืนยันหรือการติดตามผล ตลอดจนเพิ่มความแม่นยำ สะดวกและรวดเร็วในการทำงาน
นายชัยยุทธ กล่าวปิดท้ายว่า นับเป็นโครงการนำร่อง ในการตกลงร่วมมือกับองค์การเภสัชกรรม ซึ่งจะนำไปสู่การร่วมผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูล ด้านกลุ่มอุตสาหกรรมยาของประเทศไทย (Pharmacy Trade Exchange – PTX) ตลอดจนเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านโลจิสติกส์ของภูมิภาคเอเชีย (Asia Trade Exchange – ATX) ในอนาคตอันใกล้