ศาสตราจารย์ นายแพทย์ จรัส สุวรรณเวลา รองประธานมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษาในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (มูลนิธิ สอวน.) กล่าวถึงความเป็นมาของการจัดงาน Asian Science Camp ว่า เป็นงานที่จัดขึ้นทุกปีหมุนเวียนไปในประเทศต่างๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 (ค.ศ.2007) ถึงปัจจุบัน ตามลำดับ ได้แก่ ไต้หวัน อินโดนีเชีย ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลีใต้ อิสราเอล ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ โดยงานดังกล่าว จัดขึ้นเพื่อต้องการจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ให้กับเยาวชนในแถบเอเชียแปซิฟิก ที่มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์ โดยประเทศไทยได้ส่งเยาวชนเข้าร่วมโครงการ Asian Science Camp ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา และได้รับรางวัลในทุกปี และเมื่อถึงคราวที่ประเทศไทยจะต้องเป็นเจ้าภาพ จึงได้แสดงเจตนารมย์ขอรับเป็นเจ้าภาพจัด Asian Science Camp ในปี พ.ศ. 2558 ซึ่งตรงกับปีเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานมูลนิธิ สอวน. ในวโรกาสที่จะทรงเจริญพระชนมายุ 5 รอบ ที่ประชุม International Board of Asian Science Camp เห็นว่าประเทศไทยมีความพร้อมประสบการณ์และศักยภาพ ประสบผลความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระดับนานาชาติหลายต่อหลายครั้ง จึงมีมติให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัด Asian Science Camp 2015
โดยภายในงาน Asian Science Camp 2015 เยาวชนที่เข้าร่วมงานจะได้รับฟังการบรรยาย ร่วมอภิปราย และพูดคุยกับนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลและนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลก แล้วนำมาสร้างสรรค์เป็นโปสเตอร์แสดงผลงานโดยมุ่งเน้นให้เยาวชนกล้าแสดงออกในการซักถาม เสนอความคิดเห็น ทำงานร่วมกับเยาวชนจากประเทศอื่นๆ และเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างเยาวชนในภูมิภาคเอเชียให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือกันในอนาคต
ศาสตราจารย์ นายแพทย์จรัส กล่าวว่า สำหรับไฮไลท์ของการจัดงานครั้งนี้ ได้มีการเชิญ 7 นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลและนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำ มาเป็นวิทยากรและร่วมกิจกรรมกับเยาวชน ได้แก่ 1) Prof. Yuan T. Lee นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล สาขาเคมี ปี 1986 จากประเทศไต้หวัน 2) Prof. Robert Huber นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล สาขาเคมี ปี 1988 จากประเทศเยอรมัน 3) Prof. Harald zur Hausen นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล สาขาสรีรวิทยาหรือแพทยศาสตร์ ปี 2008 จากประเทศเยอรมัน 4) Prof. Ada Yonath นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล สาขาเคมี ปี 2009 จากประเทศอิสราเอล 5) Prof. Vladimir Voevodsky นักคณิตศาสตร์รางวัลเหรียญฟีลด์ส ปี 2002 จากประเทศรัสเซีย 6) Prof. Hitoshi Murayama นักวิทยาศาสตร์รางวัล Yukawa Commemoration Prize ปี 2002 สาขาฟิสิกส์ จากประเทศญี่ปุ่น และ 7) ศาสตราจารย์ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี และนักวิทยาศาสตร์รางวัลนิเกอิเอเชีย ปี 2004 สาขาชีวเคมี
พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า นอกจากจะเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยจะได้แสดงศักยภาพ และความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพจัดงานในครั้งนี้แล้ว ยังช่วยเผยแพร่ชื่อเสียงของประเทศให้เป็นที่รู้จักแก่นานาประเทศ Asian Science Camp 2015 จึงเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมสำคัญของกระทรวง ศึกษาธิการ ที่จะช่วยยกระดับคุณภาพเยาวชนไทยให้ได้มาตรฐานสากล ตอบสนองนโยบายของรัฐบาลด้านการพัฒนากำลังคนในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม
เยาวชนที่เข้าร่วม Asian Science Camp 2015 จะเป็นเยาวชนที่ศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ถึงระดับอุดมศึกษาปีที่ 2 โดยมี 265 เยาวชน จาก 29 ประเทศในแถบเอเชียแปซิฟิกตอบรับเข้าร่วม และในฐานะประเทศเจ้าภาพจึงเป็นโอกาสที่ประเทศไทยสามารถส่งเยาวชนเข้าร่วมกิจกรรมนี้ได้ถึง 40 คน โดยได้คัดเลือกเยาวชนไทยที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีความรู้ทางภาษาอังกฤษดีเยี่ยม จากหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพร่วม 4 หน่วยงานๆ ละ 10 คน ได้แก่ มูลนิธิ สอวน. ทำการเปิดรับสมัครจากเยาวชนทั่วประเทศ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ คัดเลือกด้วยกระบวนการ Thai Science Camp ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) คัดเลือกจากเยาวชนที่ร่วมโครงการ Junior Science Talented Project และกระทรวงศึกษาธิการ โดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) คัดเลือกจากโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.)
ดร. พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า การจัดงาน Asian Science Camp 2015 กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้สนับสนุนองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ บุคลากรในการดำเนินงาน และสถานที่จัดกิจกรรม โดยกิจกรรมทั้งหมดจะจัดที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย และสถานที่พักของเยาวชนจะอยู่ที่บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ซึ่งมีศักยภาพเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีมาตรฐานในการดูแล รักษาความปลอดภัย และให้การต้อนรับผู้เข้าร่วมงานในระดับนานาชาติ และขณะนี้มีความพร้อมแล้วในทุกด้าน โดยเฉพาะบุคลากรจาก สวทช. ที่มีประสบการณ์และความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ที่จะร่วมจัดงาน ASIAN Science Camp 2015 ให้ประสบผลสำเร็จ และเกิดความประทับใจกับเยาวชนทุกคน
ทั้งนี้ ในพิธีเปิดงาน ASIAN Science Camp วันที่ 3 สิงหาคม 2558 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จเป็นองค์ประธาน และทรงบรรยายพิเศษ โดยจะมีการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) และทางเว็บไซต์ www.asc2015.posn.or.th จึงขอเชิญชวนประชาชนชาวไทยมาร่วมติดตามรับชมกัน ด้วยกิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเสริมสร้างสังคมแห่งวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมให้แก่เยาวชนไม่เฉพาะแต่ 40 เยาวชนไทยที่เข้าร่วมค่ายฯ เท่านั้น ที่สำคัญเยาวชน นักเรียน นักศึกษาและผู้ที่สนใจทั่วไป ยังสามารถติดตามข่าวสารตลอดการจัดงานได้จากการถ่ายทอดบรรยากาศของกิจกรรมทาง nstda channel (http://nstdachannel.tv) และจะมีการลิ้งค์ไปที่เว็บไซต์ของงาน รวมทั้งบันทึกภาพการบรรยายของวิทยากรชั้นนำและกิจกรรมต่างๆ ภายในค่ายฯ ซึ่งสามารถรับชมย้อนหลังได้ด้วย