นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ภาพรวมปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นในปีนี้ถือว่า มีความรุนแรงกว่าทุกปีที่ผ่านมา เนื่องจากฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน โดยเฉพาะช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคมเป็นช่วงเวลาที่ตออ้อยต้องการน้ำเพื่อเจริญเติบโต แต่ในปีนี้กลับพบว่า ไม่มีฝนตกในช่วงเวลาดังกล่าว ประกอบกับในพื้นที่เพาะปลูกหลายแห่งประสบปัญหาแหล่งน้ำไม่เพียงพอต่อการนำไปหล่อเลี้ยงให้ตออ้อยสามารถเติบโตได้ ส่งผลต่อขนาดความสูงและคุณภาพของอ้อย
ทั้งนี้ แม้ปัจจุบันเริ่มมีฝนตกเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ แต่ไม่กระจายทั่วถึงและไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของตออ้อย หลายพื้นที่ยังประสบภัยแล้ง อีกทั้ง หากชาวไร่อ้อยเริ่มลงมือเพาะปลูกในช่วงนี้ก็จะมีความเสี่ยงที่จะจัดเก็บผลผลิตไม่ทันฤดูการหีบอ้อยของโรงงานน้ำตาลที่จะเปิดหีบในช่วงเดือนธันวาคม เนื่องจากกว่าที่ต้นอ้อยจะเจริญเติบโตได้เต็มที่พร้อมจัดเก็บผลผลิตได้ต้องใช้เวลาเพาะปลูกอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 10 เดือน ทำให้ชาวไร่บางรายจำเป็นต้องจัดเก็บผลผลิตเร็วกว่าที่ควร ก็ย่อมส่งผลต่อคุณภาพผลผลิตอ้อยเข้าหีบในที่สุด
ทั้งนี้ ทางสมาคมฯ ประเมินว่า วิกฤตปัญหาภัยแล้งครั้งนี้ จะส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตและคุณภาพอ้อยที่เข้าหีบ และปริมาณผลผลิตน้ำตาลทรายต่อตันอ้อย (ยิลด์) ในฤดูการผลิต 2558/2559 ที่คาดว่าจะลดลงลดลงกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 105.97 กิโลกรัมต่อตันอ้อย
"ปีนี้ชาวไร่อ้อยประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรงกว่าทุกปี ทำให้เรามีความกังวลต่ออ้อยเข้าหีบของฤดูการผลิตในปีนี้ คาดว่าจะมีปริมาณลดลงและคุณภาพผลผลิตอ้อยที่มีความเสี่ยงจะด้อยกว่าปีที่ผ่านมาด้วย ซึ่งส่งผลกระทบต่อผลผลิตน้ำตาลทรายโดยรวม ซึ่งอาจจะต่ำกว่า 11 ล้านตัน" นายสิริวุทธิ์ กล่าว