ดร.อภิญาณ์ หทัยธรรม รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่า จากความร่วมมือระหว่าง อพวช. ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา สมาคมวิทยาศาสตร์ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ มูลนิธิ Global Health & Education Foundation ในการจัดประกวดโครงงานด้านธรรมชาติวิทยาระดับประเทศที่ อพวช. เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งงานนี้ได้คัดเลือกตัวแทนนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจำนวน 7 ทีมจากทั่วประเทศเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการประกวดโครงงานธรรมชาติวิทยานานาชาติ (NHD 2015) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-20 กรกฎาคม 2558 ณ เมืองจี่หนาน มณฑลซานตง ประเทศจีน โดยมีเยาวชนจำนวน 61 ทีม จาก 6 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย ลาว กัมพูชา ฮ่องกง จีน และฮาวาย มาเข้าร่วมการประกวด
ผลปรากฏว่าเยาวชนไทยสามารถคว้าเหรียญทองได้ถึง 3 ทีม ได้แก่ 1) ทีมนายชำนาญ วิเศษสิงห์ และ ด.ญ. กมลภัทร คำปัญญา จากโรงเรียนกาวิละวิทยาลัย จ.เชียงใหม่ กับโครงงาน"มหัศจรรย์แหนแดง" ที่เป็นศึกษาการเพาะเลี้ยงแหนแดง เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการเกษตร เช่น ปุ๋ยพืชสด และอาหารสัตว์ 2) ทีม ด.ญ.ภณฐานีย์ วงศ์พึ่งไชย และ ด.ญ.ณัฐนันท์ สงสาร จากโรงเรียนวารีเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ กับโครงงาน "หนอนเยื่อไผ่" ซึ่งศึกษาวงจรชีวิต ลักษณะทางกายภาพ และชนิดของไม้ไผ่ที่หนอนชอบอาศัย เพื่อนำไปสู่การเพาะเลี้ยงที่ได้ผลผลิตสูงต่อไป และ 3) ทีม ด.ญ. ธีรภรณ์ หิรัญมาศ และ ด.ญ.วริศรา เขตคีรี จากโรงเรียนเพรักษมาตาวิทยา จ.ระยอง กับโครงงาน "จิงโจ้น้ำ" ที่เป็นการเลียนแบบส่วนขาของจิงโจ้น้ำในการประดิษฐ์ "ฐานลอยจิงโจ้น้ำ" ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นฐานที่สามารถลอยอยู่บนผิวน้ำได้
ด้าน ด.ญ. กมลภัทร คำปัญญา ตัวแทนหนึ่งในทีมที่คว้าเหรียญทองได้กล่าวว่า "ผลงาน "มหัศจรรย์แหนแดง" ของทีมจะเป็นการนำแหนแดงไปเพาะเลี้ยง และนำมาใช้ประโยชน์โดยการทำเป็นปุ๋ยพืชสดในนาข้าว หรือใช้ในการปลูกพืชต่าง ๆ รวมถึงนำไปเป็นอาหารสัตว์ เช่น หมู เป็ด ไก่ ห่าน และปลากินพืชได้ ซึ่งเป็นการนำสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มประสิทธิภาพและยังเป็นการช่วยลดการใช้ปุ๋ยเคมีได้ การได้รางวัลเหรียญทองในการประกวดครั้งนี้แม้จะทำให้ตนรู้สึกดีใจมาก แต่สิ่งที่ประทับใจยิ่งกว่าคือการได้มีโอกาสเข้าร่วมการประกวดในเวทีนานาชาติ ที่ให้ทั้งความรู้และประสบการณ์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมที่แตกต่าง วิถีชีวิตคนจีนและเพื่อนต่างชาติ ซึ่งถึงแม้ภาษาจะเป็นอุปสรรคทำให้คุยกันไม่ค่อยรู้เรื่องแต่เราก็ยังสามารถเข้าใจกันได้ และสิ่งสำคัญที่สุดที่ตนได้จากการเข้าร่วมการประกวดในครั้งนี้คือการตระหนักว่าธรรมชาติเป็นสิ่งที่มีคุณค่า หากเราไม่ช่วยกันอนุรักษ์ วันหนึ่งเราจะสูญเสียไปมันไปตลอด"
นอกจากนี้ทีมเยาวชนไทยยังคว้าอีก 2 เหรียญเงินจาก 1) ทีม ด.ช.กรณ์ เรืองช่วย และด.ญ.ศศิพร อินทร์ดำ จากโรงเรียนพิชัยรัตนาคาร จ.ระนอง กับโครงงาน "การศึกษาพฤติกรรมการขุดรูของปูก้ามดาบ" 2) ทีม ด.ญ. จันทนา วิชพงษ์ และ ด.ญ.พัชราภรณ์ แซ่อ๋อง โรงเรียนเทศบาลชุมชนวิมลวิทยา จ.ตราด กับโครงงาน "ปรากฏการณ์แมงกะพรุนเปลี่ยนสีที่จังหวัดตราด" และอีก 2 เหรียญทองแดงจาก 1) ทีม ด.ญ.นิชาภา ใสสุข และด.ญ. ศุทธินี ภุมมา จากโรงเรียนพิชัยรัตนาคาร จ.ระนอง กับโครงงาน "มหัศจรรย์พันธุ์ไม้บิน ณ สวนป่ารักษะวาริน จ.ระนอง" 2) ทีม ด.ช.วัชระ บุตรดี และ ด.ช. กฤติ จีนบุญ จากโรงเรียนมวกเหล็กวิทยา จ.สระบุรี กับโครงงาน "ตะกอง"
โดย ดร.อภิญาณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า "การนำเยาวชนไปเข้าประกวดโครงงานธรรมชาติวิทยาในครั้งนี้ ถือว่าประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมาก เพราะ 7 ทีมที่นำไปสามารถคว้าเหรียญรางวัลมาให้คนไทยชื่นชมกันได้ทุกทีม แต่สิ่งที่น่ายินดีไปกว่านั้นนอกจากเหรียญรางวัลต่าง ๆ แล้ว คือการที่เยาวชนไทยได้มีประสบการณ์การประกวดในระดับนานาชาติ ได้สร้างเครือข่าย มิตรภาพ เรียนรู้วัฒนธรรมที่หลากหลาย แนวคิดด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติ และการใช้ชีวิตในต่างแดน ซึ่งในอนาคตเราคาดหวังว่าเด็ก ๆ กลุ่มนี้จะโตไปเป็นกำลังสำคัญในการนำวิทยาศาสตร์มาช่วยอนุรักษ์ธรรมชาติให้คงอยู่กับโลกของเราตลอดไป"