รองศาสตราจารย์ ดร. พิภพ อุดร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า เพื่อตอบสนองยุทธศาสตร์ของ "การสร้างผู้นำแห่งศตวรรษที่ 21" ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อเร็วๆ นี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงได้เปิดศูนย์ทดสอบสมรรถนะ TCTC (Thammasat Competency Test Center) เพื่อให้บริการด้านการทดสอบสมรรถนะและทักษะครอบคลุม 6 ด้านตามคุณสมบัติ GREATS คือ Global Mindset ทันโลกทันสังคม สามารถทำงานในองค์กรต่างชาติที่มีความหลากหลายวัฒนธรรม Responsible มีจิตสำนึกและความรับผิดชอบในหน้าที่ Eloquent มีการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์และทรงพลัง Aesthetic Appreciation มีสุนทรียในหัวใจ Team Leader มีความเป็นผู้นำ สามารถทำงานเป็นทีม และ Spirit of Thammasat มีจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ คือ รักความเป็นธรรม ความเท่าเทียมกัน และเปิดกว้างรับความต่าง ซึ่งเป็นหลักสากลที่เป็นที่ยอมรับ โดย มธ. กำหนดให้นักศึกษาใหม่ เริ่มตั้งแต่ปี 2558 ต้องเข้าทดสอบสมรรถนะที่ศูนย์ TCTC เพื่อประเมินว่า มีสมรรถนะตาม GREATS อย่างไร และตลอด 4 ปีจนสำเร็จการศึกษา นักศึกษาสามารถใช้บริการทดสอบสมรรถนะของตนว่ามีการพัฒนาทักษะในด้านต่างๆเพิ่มขึ้นอย่างไร
"เป้าหมายของธรรมศาสตร์ ไม่ใช่แค่สร้างบัณฑิตที่มีความรู้ แต่ต้องการสร้างผู้นำของศตวรรษ 21 จึงจัดตั้งศูนย์ TCTC ซึ่งจะมีบทบาทในการประเมินนักศึกษาว่า มีสมรรถนะพร้อมเป็นผู้นำแล้วหรือยัง คำว่าสมรรถนะมีความหมายกว้างและลึกกว่าแค่ความรู้ ความรู้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น การทดสอบนี้ไม่ใช่การตัดสินว่า ดีหรือไม่ดี แต่ศูนย์ TCTC จะเป็นกระจก 360 องศาสะท้อนความเป็นผู้นำในแง่มุมต่างๆ ให้เห็นว่า นักศึกษามีความพร้อมและไม่พร้อมในด้านใด จะต้องมีการพัฒนาในด้านไหน เพื่อห้นักศึกษามีเป้าหมายในการพัฒนาตนเอง เราเชื่อว่า คนที่จะเป็นผู้นำในศตวรรษที่ 21 ได้ควรมีครบทุกด้านของ GREATS"
ปัจจุบัน ศูนย์ TCTC สามารถทำการทดสอบสมรรถนะใน 2 ด้าน คือ Global Mindset ภายใต้แบบทดสอบ "การคิดเชิงวิพากษ์" (Critical thinking) และ Eloquent ภายใต้แบบทดสอบ "การสื่อสารภาษาอังกฤษ" ซึ่งตั้งเป้าว่าภายใน 3 ปี จะเพิ่มแบบทดสอบให้ได้ครบทั้ง 6 ด้านของ GREATS ซึ่งเมื่อครบแล้ว นักศึกษาใหม่ของ มธ.ทุกคนจะต้องทำการทดสอบทั้ง 6 ด้านดังกล่าว
สำหรับแบบทดสอบการสื่อสารภาษาอังกฤษจะมุ่งเน้นการทดสอบทั้ง 4 ทักษะ ฟัง พูด อ่าน เขียน โดยศูนย์ TCTC มีแผนจะนำผลสอบภาษาอังกฤษไปเทียบเคียงกับผลสอบ IELTS และ TOEFL เพื่อให้มีแนวทางการประเมินคะแนนในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งการสร้างความน่าเชื่อถือของผลการสอบของศูนย์ TCTC เพื่อว่า หน่วยงานต่าง ๆ จะให้การยอมรับและนำไปใช้เป็นหลักฐานแทนผลสอบ IELTS และ TOEFL และผู้สอบจะสามารถนำผลการสอบของศูนย์ TCTC ไปยื่นต่อบริษัทรับสมัครงานแทนเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย
นอกจากนักศึกษาธรรมศาสตร์แล้ว ศูนย์ TCTC ยังเปิดให้บุคคลภายนอกสามารถมาทดสอบที่ศูนย์ TCTC ทั้งบัณฑิตมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และประชาชนทั่วไป เพื่อนำใบรายงานผลการทดสอบสมรรถนะ (Thammasat skill test transcript) ไปแสดงในการสมัครงาน รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่าง ๆ ก็สามารถนำบุคลากรมาทดสอบที่ศูนย์ TCTC เพื่อประเมินสมรรถนะของบุคลากรสำหรับการพิจารณารับเข้าทำงาน การเลื่อนตำแหน่ง หรือ การเปลี่ยนแผนก โดยศูนย์ TCTC จะมีการพิจารณาร่วมกับหน่วยงานในการกำหนดสมรรถนะที่เหมาะสมกับตำแหน่งงานแต่ละตำแหน่ง ซึ่งศูนย์ TCTC สามารถให้บริการสอบสูงสุด 300 คนต่อรอบ
ศูนย์ TCTC เป็นกึ่งหน่วยงานอิสระ ตั้งอยู่ที่อาคารศูนย์การเรียนรู้กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยโครงสร้างจะมีคณะกรรมการดูแลเชิงนโยบาย และมีเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาต่าง ๆ พัฒนาแบบทดสอบ พร้อมด้วยกรรมการกลั่นกรองข้อสอบ กรรมการอนุมัติข้อสอบและนำเข้าระบบคอมพิวเตอร์เพื่อทำการสุ่มข้อสอบให้มีความปลอดภัยในการสอบ
"ศูนย์ TCTC เป็นโมเดลด้านการศึกษาในลักษณะครบวงจรที่นำความรู้ความเชี่ยวชาญมาบริการสังคม ขณะเดียวกันก็สามารถนำข้อมูลมาใช้ในการวิจัย เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับสมรรถนะของคนไทย ด้านใดเด่น-ด้อย เมื่อเทียบกับต่างประเทศมีสมรรถนะแตกต่างอย่างไร ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการกำหนดนโยบายและการพัฒนาบุคลากรต่อไป" รศ.ดร. พิภพ กล่าวสรุปในตอนท้าย