ตัวขับเคลื่อนที่เหลืออยู่ตอนนี้ คือ การลงทุนภาคเอกชน ถึงแม้ว่าจะยังมีข้อจำกัดอยู่มาก แต่ก็เป็นตัวเดียวที่พอจะตอบโจทย์และยังพอมีศักยภาพอยู่บ้างเพราะจะช่วยทั้งในระยะสั้น และระยะยาว ช่วยให้ค่าเงินบาทไม่แข็งค่าไปกว่านี้ เนื่องจากจะไปลดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด และสถานการณ์ตอนนี้เอื้อต่อการลงทุนในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นสถานะการเงินของบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ที่ยังแข็งแกร่ง มีความสามารถที่จะกู้เพื่อลงทุนได้ สภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์ที่มีอยู่สูง อัตราดอกเบี้ยต่ำ และต้นทุนนำเข้าสินค้าทุนที่ต่ำลงจากค่าเงินยูโรและเยนที่อ่อนค่า แต่ยังไม่เกิดเพราะภาคเอกชนอยู่ในช่วง"รอ" ทั้งที่รอความชัดเจนของนโยบาย รอตลาดฟื้นตัว หรือรอให้ถึงรอบลงทุนถัดไป แล้วจะทำอย่างไรให้เอกชนเลิกรอ?
วิธีหนึ่งที่จะช่วยได้ คือเพิ่มการลดหย่อนภาษีเพื่อการลงทุนชั่วคราว ที่ให้นำค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าทุน เช่น เครื่องจักร อุปกรณ์และสิ่งปลูกสร้างมาหักเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อยกเว้นภาษีเงินได้ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยหักเป็นค่าใช้จ่าย และ/หรือให้หักค่าเสื่อมราคาในอัตราเร่ง ซึ่งจะทำให้ฐานรายได้ที่นำไปคำนวณเป็นภาษีลดลง ภาระภาษีลดลง เป็นการลดต้นทุนการลงทุนของเอกชน ความที่เป็นมาตรการชั่วคราวช่วยเลื่อนให้การลงทุนเกิดขึ้นเร็ว
มาตรการนี้มีข้อดีคือเป็นมาตรการที่ทำได้เร็ว เมื่อเทียบกับการใช้จ่ายของรัฐ และเคยใช้มาแล้วในช่วงน้ำท่วม เป็นภาระน้อย การกำหนดอายุของมาตรการ นอกจากจะเร่งให้เกิดการลงทุนได้ในระยะสั้นแล้วยังไม่ก่อให้เกิดภาระการคลังในระยะยาว และมีความเสี่ยงต่ำ เพราะในกรณีที่มาตรการนี้ไม่ได้ผล ก็เกิดต้นทุนกับรัฐน้อย หมายความว่าถ้าไม่มีภาคเอกชนขอยื่นใช้สิทธิ์ ก็เท่ากับว่าภาครัฐก็ไม่ได้เสียอะไรเลย หรือถ้ามีเอกชนขอใช้สิทธิ์เข้ามามาก ก็หมายความว่าเกิดการลงทุนมากขึ้น ผลที่ตามมาคือเศรษฐกิจก็จะดีขึ้น
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานคณะกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษากล่าวเพิ่มเติมว่า"มาตรการแบบนี้มีหลายประเทศที่ใช้เพื่อดึงดูดการลงทุน มาตรการที่จะเอามาใช้ชั่วคราวนี้จะช่วยเลื่อนการลงทุนให้เร็วขึ้น เมื่อการลงทุนเริ่มเดินหน้าได้จะช่วยให้เกิดเป็นโมเมนตั้ม และถ้าประกอบกับการแก้อุปสรรคการลงทุนอื่นๆ จะมีส่วนช่วยฟื้นฟูความเชื่อมั่นให้กลับคืนมา"