พพ. ยืนยัน “อำพลฟูดส์” ใช้พลังงานก๊าซชีวภาพและชีวมวลผลิตไฟฟ้า ลดต้นทุนได้จริง ประหยัด 5 ล้านบาทต่อปี

อังคาร ๐๔ สิงหาคม ๒๐๑๕ ๑๔:๕๗
นายธรรมยศ ศรีช่วย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมนับเป็นภาคส่วนที่มีการใช้พลังงานสูงสุดของประเทศ จึงมีความจำเป็นต้องเร่งปรับตัวเพื่อ หาเชื้อเพลิงจากพลังงานทดแทนมาใช้เพื่อลดต้นทุนทางการผลิต ซึ่งเชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพและก๊าซชีวมวลก็เป็นพลังงานทางเลือกหนึ่งที่ พพ. ส่งเสริมและสนับสนุน โดยในแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ได้ตั้งเป้าหมายเดินหน้าเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนให้ได้ 25% ภายในปี 2564 โดยภาพรวมของการพัฒนาพลังงานทดแทนของประเทศในปี 2558 มีการใช้พลังงานทดแทนสูงถึงร้อยละ 12 ของการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายหรือมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในช่วงไตรมาส 1 ที่ผ่านมา (ม.ค.-เม.ย. 58) แล้วทั้งสิ้น 4,558 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ ภาพรวมพลังงานทดแทนของประเทศไทย ปัจจุบันมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แล้วประมาณ 1,303 เมกะวัตต์ พลังงานลม ประมาณ 225 เมกะวัตต์ พลังงานจากชีวมวลประมาณ 2,487 เมกะวัตต์ ก๊าซชีวภาพประมาณ 327 เมกะวัตต์ พลังน้ำขนาดเล็ก/ชุมชน ประมาณ 142 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ยังมีพลังงานทดแทนจากขยะที่รัฐบาลให้การสนับสนุนและส่งเสริม ปัจจุบันพบว่ามีความก้าวหน้าอย่างยิ่ง โดยมีการผลิตไฟฟ้าจากขยะแล้วประมาณ 75 เมกะวัตต์

สำหรับ บริษัท อำพลฟูดส์ โพรเซสซิ่ง จำกัด ซึ่งมีการใช้พลังงานชีวมวลและก๊าซชีวภาพในการผลิตไฟฟ้านั้น นับเป็นหนึ่งในองค์กรตัวอย่างที่มีการจัดการด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสามารถคว้ารางวัลดีเด่นการประกวด Thailand Energy Awards 2015 ด้านพลังงานทดแทน ประเภทโครงการพลังงานหมุนเวียนที่ไม่เชื่อมโยงกับระบบสายส่งไฟฟ้า (Off-Grid) และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 การประกวด ASEAN Energy Awards 2015 ซึ่งถือเป็นตัวอย่างของภาคเอกชนในการลดต้นทุนด้านพลังงานด้วยการหันมาใช้พลังงานทดแทน

ด้าน ดร.เกรียงศักดิ์ เทพผดุงพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท อำพลฟูดส์ โพรเซสซิ่ง จำกัด กล่าวว่า จากความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้น ทำให้บริษัทฯ ตระหนักถึงความสำคัญของการใช้พลังงาน และการพัฒนาพลังงานทดแทนหรือพลังงานทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จากการที่ บริษัทฯ ประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเป็นผลิตภัณฑ์อาหารรูปแบบต่างๆ โดยใช้มะพร้าวเป็นวัตถุดิบหลักประมาณ 40,000 ตัน/ปี ส่งผลให้มีของเหลือทิ้งที่เกิดจากกระบวนการผลิตเป็นจำนวนมาก เช่น กะลา ใย ผิวทิว ฯลฯ รวมถึงน้ำเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิตที่บริษัทต้องกำจัด ซึ่งการนำของเสียและของเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตกลับมาใช้ประโยชน์ นอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายแล้ว ยังช่วยสร้างรายได้เข้าบริษัทอีกด้วย ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดแนวคิดในการนำของเหลือทิ้งและของเสียดังกล่าวมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดหรือสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการนำมาผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ทดแทนการใช้ไฟฟ้าภายในบริษัทฯ ตามนโยบาย "ลดขยะให้เป็นศูนย์ (Zero waste)"

โครงการระบบผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพและก๊าซชีวมวล เป็นการนำของเสียและของเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตของบริษัทฯ มาผลิตไฟฟ้า โดยจัดทำระบบผลิตไฟฟ้า 2 ระบบ คือ

(1) ระบบผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ ใช้ก๊าซชีวภาพที่ได้จากระบบบำบัดน้ำเสียแบบ Modify Cover Lagoon ซึ่งรองรับปริมาณน้ำเสียได้วันละ 2,000 ลูกบาศก์เมตร มาผลิตไฟฟ้าด้วยเครื่องยนต์ก๊าซ ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 600 kW ส่วนความร้อนเหลือทิ้งนำไปใช้กับ absorption chiller

(2) ระบบผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวมวลด้วยเทคโนโลยีแก๊สซิฟิเคชั่น ชนิด Open Top Downdraft Gasification มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อแก้ไขปัญหาการจัดการขยะกะลามะพร้าวที่เหลือทิ้งปริมาณมาก โดยนำกะลามะพร้าวและใยมะพร้าวมาผลิตก๊าซเชื้อเพลิงสังเคราะห์หรือก๊าซชีวมวล (Synthetic Gas หรือ Producer Gas) แล้วนำไปผลิตไฟฟ้าด้วยเครื่องยนต์ก๊าซ (Gas Engine) ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 250 kW ระบบนี้มี By-Product เป็นขี้เถ้ากะลามะพร้าวซึ่งมีคุณสมบัติเป็นถ่านกัมมันต์ (activated carbon) ที่ราคาต่ำกว่าท้องตลาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco Friendly) จึงสามารถขาย สร้างรายได้เสริมให้แก่บริษัทฯ ได้อีกด้วย (เดิมขายกะลามะพร้าว 1 บาท/กิโลกรัม ถ่านกัมมันต์มีมูลค่า 10 บาท/กิโลกรัม) ปัจจุบันบริษัทฯ อยู่ระหว่างวิจัยพัฒนาเพื่อเพิ่มคุณภาพถ่านกัมมันต์ให้สูงขึ้นเพื่อเพิ่มมูลค่าขึ้นอีก

ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากทั้ง 2 ระบบ สามารถใช้ทดแทนไฟฟ้าที่ใช้ภายในบริษัทฯ ได้ประมาณ 10% ของปริมาณไฟฟ้า ที่ใช้ทั้งหมด ระบบผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพสามารถผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 1,333 MWh ต่อปี คิดเป็นผลประหยัดประมาณ 5 ล้านบาทต่อปี มูลค่าการลงทุนรวม 40.5 ล้านบาท (ได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐ 6 ล้านบาท) IRR 5.01% ระยะเวลาคืนทุน 6 ปี ส่วนระบบผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวมวล ผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 48 MWh ต่อปี คิดเป็นผลประหยัดประมาณ 177,000 บาทต่อปี และยังมีผลพลอยได้เป็นถ่านกัมมันต์ 200 กิโลกรัมต่อวัน มูลค่าการลงทุนรวม 9.5 ล้านบาท (ได้รับเงินสนับสนุน จากภาครัฐ 592,220 บาท) IRR 9.74% ระยะเวลาคืนทุน 8 ปี ทั้ง 2 ระบบสามารถผลิตไฟฟ้าเทียบเท่าการลดการปล่อย ก๊าซเรือนกระจก 740 ตันคาร์บอนไดออกไซต์เทียบเท่า/ปี

"โครงการระบบผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพและก๊าซชีวมวลของ บริษัทฯ สามารถนำไปประยุกต์ใช้สำหรับโรงงาน/ชุมชนที่มีศักยภาพวัตถุดิบเพียงพอ อาทิ โรงงาน/ชุมชนที่มีเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น เศษไม้ ทางและทะลายปาล์ม แกลบ กะลามะพร้าว ซังข้าวโพด เหง้ามันสำปะหลัง ฯลฯ โรงงานที่มีน้ำเสียจากกระบวนการผลิตที่สามารถนำมาผลิต ก๊าซชีวภาพได้ ชุมชนที่มีเศษอาหารหรือขยะเหลือทิ้งที่สามารถนำมาผลิตก๊าซชีวภาพ เพื่อช่วยลดผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม" ดร.เกรียงศักดิ์ กล่าว

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๑๒ ฉลองเทศกาลตรุษจีนปีงูเล็ก ที่โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท
๑๗:๐๐ IMPACT เผยปี 68 ข่าวดี! โครงการ Sky Entrance รถไฟฟ้าสายสีชมพูมาตามนัด หนุนทราฟฟิคแน่น - จับมือพาร์ทเนอร์
๑๗:๕๒ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม สนับสนุนโครงการ กู้วิกฤตและอนุรักษ์พะยูน ครั้งที่ 2
๑๗:๕๘ แสนสิริ เจ้าตลาดคอนโดแคมปัส อวดโฉม ดีคอนโด วิวิด รังสิต คอนโดใหม่ตรงข้าม ม.กรุงเทพ
๑๖:๔๓ เอ็นไอเอ - สสส. ดึงนิวเจน สรรค์สร้างนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพ ในแคมเปญ The Health Promotion INNOVATION PLAYGROUND
๑๗:๕๘ กรมวิทย์ฯ บริการ เร่งพัฒนาระบบ e-Learning ยกระดับการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ
๑๖:๕๘ เขตจตุจักรกวดขันคนไร้บ้านเชิงสะพานข้ามคลองบางซื่อ สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
๑๗:๑๗ เขตพระนครประสานกรมเจ้าท่า-เอกชน เร่งปรับปรุงภูมิทัศน์ท่าเรือสุพรรณเดิม
๑๗:๔๐ กทม. กำชับเจ้าของอาคารตรวจสอบโครงสร้างบันไดเลื่อน เพิ่มความปลอดภัยประชาชน
๑๖:๓๗ แลกเก่าเพื่อโลกใหม่ ช้อปคุ้ม พร้อมลดหย่อนภาษี! 'เปลี่ยนของเก่าเป็นความคุ้ม' ผ่าน Easy E-Receipt ได้ที่โฮมโปร เมกาโฮม