ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร &หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน และแนวโน้ม “บ. อาปิโก ไฮเทค” ที่ “BBB+/Stable”

พฤหัส ๐๖ สิงหาคม ๒๐๑๕ ๑๕:๓๖
ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัท อาปิโก ไฮเทค จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ "BBB+" ด้วยแนวโน้ม "Stable" หรือ "คงที่" ทั้งนี้ อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งในการเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ลำดับที่ 1 ในประเทศไทย รวมถึงการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่หลายราย อุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ลำดับที่ 1 ที่มีค่อนข้างสูง และปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งของประเทศไทยซึ่งเอื้อต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนลงบางส่วนจากผลกำไรที่อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำของการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์แบบปั๊มขึ้นรูปและธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ ตลอดจนความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของลูกค้าซึ่งเป็นลักษณะโดยทั่วไปของอุตสาหกรรมเนื่องจากผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ในประเทศไทยมีจำนวนไม่มาก รวมถึงลักษณะที่เป็นวงจรขึ้นลงของอุตสาหกรรมรถยนต์

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทจะยังคงรักษาตำแหน่งทางการตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจหลักเอาไว้ได้ อีกทั้งสะท้อนความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาความแข็งแกร่งทางการเงินเอาไว้ได้ด้วย ถึงแม้ว่าความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจะด้อยลง แต่ระดับหนี้สินที่ต่ำก็คาดว่าจะช่วยเสริมสภาพคล่องให้แก่บริษัทโดยที่อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมควรอยู่ในระดับที่สูงกว่า 20% ต่อไปในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า

อันดับเครดิต และ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงหากความสามารถในการทำกำไรหรือโครงสร้างทางการเงินของบริษัทลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากระดับปัจจุบัน ซึ่งอาจเห็นได้จากอัตรากำไรที่ลดลงต่ำกว่า 5% หรืออัตราส่วนเงินกู้ร่วมต่อส่วนทุนสูงเกินกว่า 50% เป็นระยะเวลานาน

อันดับเครดิต และ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจถูกปรับขึ้นหากความสามารถในการทำกำไรของบริษัทปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากการขยายธุรกิจไปสู่สินค้าที่มีอัตรากำไรสูงขึ้น โดยอาจพิจารณาได้จากอัตรากำไรที่เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 15% เป็นระยะเวลานาน

บริษัทอาปิโก ไฮเทค เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์รายใหญ่ในประเทศไทย โดยบริษัทก่อตั้งในปี 2539 และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2545 ณ เดือนมีนาคม 2558 ผู้ถือหุ้นหลักของบริษัท 2 ราย ได้แก่ ตระกูลเย็บ (Yeap) และโซจิทสึ คอร์ปอเรชั่น (Sojitz Corporation -- Sojitz) โดยมีสัดส่วนการถือหุ้น 39.8% และ 15.8% ตามลำดับ

สถานะทางธุรกิจของบริษัทค่อนข้างแข็งแกร่ง โดยบริษัทดำเนินธุรกิจหลัก 2 ประเภท ได้แก่ ธุรกิจการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ (Original Equipment Manufacturer -- OEM) และธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ โดยชิ้นส่วนรถยนต์หลักที่บริษัทผลิต ได้แก่ โครงช่วงล่างรถกระบะ และชิ้นส่วนปั๊มขึ้นรูป ส่วนธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์นั้น บริษัทจำหน่ายรถยนต์ฟอร์ดและมิตซูบิชิในประเทศไทย และจำหน่ายรถยนต์ฮอนด้าในประเทศมาเลเซีย ในปี 2557 บริษัทมีรายได้โดยรวมอยู่ที่ 1.45 หมื่นล้านบาท โดยธุรกิจผลิตชิ้นส่วนรถยนต์สร้างรายได้ประมาณ 65% ของรายได้ทั้งหมด ส่วนที่เหลือมาจากธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ บริษัทมีการดำเนินธุรกิจทั้งในประเทศไทย จีน และมาเลเซีย โดยรายได้จากประเทศไทยมีสัดส่วนประมาณ 65%-70% ของรายได้ทั้งหมด ตามด้วยประเทศมาเลเซียประมาณ 15%-25% และประเทศจีนประมาณ 5% ของรายได้ทั้งหมด

บริษัทเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ให้แก่ผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำหลายแห่งในประเทศไทย เช่น อีซูซุ ออโต้อัลลายแอนซ์ (บริษัทร่วมลงทุนระหว่างบริษัทฟอร์ดและบริษัทมาสด้า) ฟอร์ด นิสสัน โตโยต้า ฮอนด้า เจนเนอรัล มอเตอร์ และ มิตซูบิชิ สถานะการเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ลำดับที่ 1 ของบริษัทได้รับการปกป้องจากการมีอุปสรรคสูงในการเข้าสู่ตลาด เช่น การลงทุนที่สูงและต่อเนื่อง การมีประวัติการดำเนินงานที่ดี และการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตที่ต่อเนื่องซึ่งมาจากความต้องการของผู้ผลิตรถยนต์ ลูกค้ารายใหญ่ของบริษัทได้แก่ บริษัท อีซูซุ มอเตอร์ (ประเทศไทย) ซึ่งบริษัทเป็นผู้ผลิตโครงช่วงล่างให้แก่รถกระบะอีซูซุมาตั้งแต่ปี 2546 โดยบริษัทมีรายได้จากบริษัทอีซูซุ มอเตอร์ (ประเทศไทย) คิดเป็นประมาณ 30% ของรายได้ทั้งหมด ส่วนลูกค้าหลักรายอื่น ๆ ได้แก่ บริษัท ออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) และ บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 9% และ 5% ของรายได้ทั้งหมดของบริษัทตามลำดับ ทั้งนี้ ยอดการผลิตรถยนต์รวมเฉพาะของอีซูซุ ฟอร์ด มาสด้า และนิสสันนั้นครอบคลุมส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 30% ของยอดการผลิตรถยนต์ในประเทศไทย ส่วนแบ่งทางการตลาดที่มีขนาดใหญ่ของลูกค้าเหล่านี้ส่งผลให้บริษัทสามารถเติบโตได้อย่างสอดคล้องกับอุปสงค์ของรถยนต์ในประเทศไทยและในต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งของบริษัทถูกลดทอนบางส่วนจากการมีอัตรากำไรที่ต่ำจากการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์แบบปั๊มขึ้นรูปและจากธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ รวมถึงความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของลูกค้าเนื่องจากการพึ่งพิงลูกค้ารายใหญ่จำนวนน้อยราย

ในไตรมาสแรกของปี 2558 รายได้โดยรวมของบริษัทเพิ่มขึ้น 1.8% จากปีก่อนหน้าเป็น 3,758 ล้านบาทเนื่องจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยและการเติบโตของรายได้ของธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ในประเทศมาเลเซีย อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ (อัตรากำไร) อยู่ที่ 7.6% ในไตรมาสแรกของปี 2558 ซึ่งลดลงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยที่ 8.8% ในระหว่างปี 2553 และ 2557 อัตรากำไรที่ลดลงนั้นสะท้อนถึงการลดลงของอัตราการใช้กำลังการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ OEM และสัดส่วนรายได้ที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ซึ่งมีกำไรค่อนข้างน้อย สถานะการเงินของบริษัทยังอยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจจากความพยายามในการลดภาระหนี้สินและการลดต้นทุนต่าง ๆ อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนปรับตัวดีขึ้นโดยสัดส่วนลดลงจาก 40.2% ในปี 2557 มาอยู่ที่ 38.7% ในไตรมาสแรกของปี 2558 จากการประเมินของทริสเรทติ้ง อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมของบริษัทที่มากกว่า 20% นั้นถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้

ทริสเรทติ้งคาดว่าอุปสงค์ของรถยนต์จะฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ในช่วงระหว่างปี 2559-2560 จากแนวโน้มที่ยังดีของการส่งออกยานยนต์และโครงการรถยนต์ประหยัดพลังงงาน (อีโคคาร์) ซึ่งคาดว่าจะเริ่มการผลิตในปี 2559-2560 ประมาณการพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะเติบโตประมาณ 4%-5% ต่อปีในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า โดยอัตรากำไรน่าจะฟื้นกลับไปอยู่ในระดับค่าเฉลี่ยในอดีตที่ 8%-9% เนื่องจากรายได้จากธุรกิจผลิตชิ้นส่วนรถยนต์มีสัดส่วนที่สูงขึ้น ทริสเรทติ้งมองว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องเนื่องจากบริษัทจะยังไม่มีแผนการลงทุนขนาดใหญ่ ดังนั้น อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนจึงคาดว่าจะลดลงไปอยู่ที่ระดับ 30% และอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมน่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 30%-40% ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

สภาพคล่องของบริษัทยังมีเพียงพอ ทั้งนี้ เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทสำหรับ 12 เดือนข้างหน้าคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1,000 ล้านบาท อีกทั้งบริษัทยังมีวงเงินกู้ที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกจำนวนประมาณ 3,000 ล้านบาท ในขณะที่การใช้จ่ายเพื่อการลงทุนส่วนใหญ่ในช่วง 12 เดือนข้างหน้านั้นจะเป็นการใช้จ่ายส่วนทุนประมาณ 400 ล้านบาท รวมทั้งเป็นการจ่ายเงินปันผลอีกประมาณ 100 ล้านบาท และเป็นการชำระเงินกู้ยืมระยะยาวรวมอีก 1,200 ล้านบาท

บริษัท อาปิโก ไฮเทค จำกัด (มหาชน) (AH)

อันดับเครดิตองค์กร: BBB+

อันดับเครดิตตราสารหนี้:

AH184A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันในวงเงินไม่เกิน 800 ล้านบาท ไถ่ถอนภายในปี 2561 BBB+

แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๕๐ พี อาร์ จี ร่วมยินดีเปิด สนามพิคเคิลบอล แห่งใหม่ที่ริเวอร์เดล มารีน่า
๑๖:๐๖ วว. คว้ารางวัลการวิจัยแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2568 ประเภทวิทยานิพนธ์ สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช / วิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย
๑๖:๓๙ TIME Consulting จับมือ Orbus Software และ Stelligence จัดงาน AI-DATA SYNERGY: CRAFTING A DATA DRIVEN FUTURE
๑๖:๓๔ คณะจากสำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้ประจำจังหวัดอุดรธานี ศึกษาดูงานโครงการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนอ่างเก็บน้ำห้วยคล้าย
๑๖:๐๒ จีนโปรโมตกิจกรรม China in Children's Chorus สืบสานศิลปะการแต่งเพลงสำหรับเด็กให้เปล่งประกายโดดเด่นในยุคสมัยใหม่
๑๖:๑๔ คิง เพาเวอร์ เปิดบูติกนาฬิกาแฟรงค์ มุลเลอร์ 2 แห่งใหม่ ณ คิง เพาเวอร์ รางน้ำ และ คิง เพาเวอร์ ศรีวารี
๑๖:๑๖ WP ประเมินผลงานโค้งสุดท้ายโตแกร่ง! ความต้องการใช้ก๊าซ LPG คึกคัก -เน้นกลยุทธ์คุมต้นทุนอยู่หมัด มั่นใจดันยอดขายเข้าเป้าแตะ 8.2
๑๖:๓๗ โรงพิมพ์กรังด์ปรีซ์ฯ รับรางวัล BRONZE AWARD ใน การประกวดสิ่งพิมพ์แห่งชาติ ครั้งที่ 17 ประเภทระบบการพิมพ์แบบออฟเซ็ต จากสมาคมการพิมพ์ไทย ประจำปี
๑๖:๕๕ เอเชี่ยน เคมิคัล จำกัดเข้าร่วมโครงการระบบการบริหารจัดการความปลอดภัย เพื่อป้องกันเหตุฉุกเฉินจากสารเคมีในโรงงาน
๑๖:๐๗ NILA พาออกเดินทางเลียบชายฝั่งประเทศอินเดีย สัมผัสรสชาติอาหารท้องถิ่น กับ 'เทสติ้ง เมนู' ใหม่