แพทย์เตือนภัยจากสังคมก้มหน้า เสี่ยง! เผชิญโรคปวดศีรษะระยะยาว

ศุกร์ ๐๗ สิงหาคม ๒๐๑๕ ๑๓:๔๑
บทความสุขภาพ

แพทย์เตือนภัยจากสังคมก้มหน้า เสี่ยง! เผชิญโรคปวดศีรษะระยะยาว

โดย เรืออากาศโท นพ.กีรติกร ว่องไววาณิชย์

อายุรแพทย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลกรุงเทพ

ในยุคปัจจุบันสังคมออนไลน์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ปริมาณการใช้งานสมาร์ทโฟน แทบเล็ต หรือ คอมพิวเตอร์ เข้ามามีบทบาทเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว จากในอดีตที่มีการใช้เพียงเพื่อโทรศัพท์ หรือเช็คอีเมล์ ก็มีการเพิ่มระยะเวลาในการใช้งานนานมากขึ้น บางคนใช้งานเกือบตลอดเวลาตั้งแต่ตื่นนอนตอนเช้าถึงเข้านอนตอนค่ำ มิหนำซ้ำยังวางไว้ข้างตัวขณะเวลานอนหลับอีกด้วย จนเกือบเป็นส่วนหนึ่งของอวัยวะในร่างกายที่ขาดไม่ได้ แต่การใช้งานสมาร์ทโฟนที่เพิ่มมากขึ้นนี้ ส่งผลกระทบโดยตรงกับระบบประสาทและกระดูกต้นคอ เมื่อใช้ในท่าทางที่ไม่เหมาะสมเป็นระยะเวลานาน สามารถทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยตามมาได้ อาการผิดปกติที่พบได้บ่อย ในกลุ่มคน “สังคมก้มหน้า” คือ อาการปวดศีรษะ

เรืออากาศโท นพ.กีรติกร ว่องไววาณิชย์ อายุรแพทย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลกรุงเทพ ให้ข้อมูลว่า อาการปวดศีรษะเป็นอาการที่พบได้บ่อยในทุกเพศทุกวัย เกิดจากสาเหตุที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นจากความไวที่มากกว่าปกติของระบบประสาทเอง ซึ่งทำให้เกิดโรคปวดศีรษะไมเกรน หรือจากความผิดปกติอื่นๆ เช่น เนื้องอกในสมอง, เส้นเลือดในสมองแตก, ความดันในสมองผิดปกติ, ยาหรือสารเคมีบางชนิด เป็นต้น

การใช้งาน สมาร์ทโฟน หรือ คอมพิวเตอร์ ที่มากเกินไปหรือใช้งานอย่างไม่ถูกท่าทางนั้น เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะได้เช่นกัน การก้มหน้าใช้งานเป็นเวลานาน จะทำให้กล้ามเนื้อบริเวณคอเกิดอาการเมื่อยล้า หรือเกิดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อขึ้นมาเป็นก้อน อาการปวดที่กล้ามเนื้อคอนี้ อาจส่งความปวดไปยังส่วนอื่นที่ใกล้เคียง เช่น ท้ายทอย, บริเวณขมับ, รอบกระบอกตา, หรือ หน้าผากได้ โรคนี้เป็นโรคที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานหน้าคอมพิวเตอร์นานๆ หรือใช้สมาร์ทโฟนอย่างไม่เหมาะสม ซึ่งจะรู้จักกันดีในชื่อ “กลุ่มอาการปวดจากกล้ามเนื้อเกร็ง” หรือ Myofascial pain syndrome (MFS) การก้มหน้าเป็นระยะเวลานานนั้น ยังส่งผลต่อกระดูกต้นคอ ทำให้กระดูกต้นคอเกิดการรับน้ำหนักมากกว่าปกติถึง 6 เท่า เกิดภาวะกระดูกคอเสื่อมก่อนวัย หรืออาจถึงขั้นหมอนรองกระดูกปลิ้นออกมาทับเส้นประสาทได้ การเกิดกระดูกต้นคอเสื่อมนั้นถ้าไปกดทับเส้นประสาทสมองระดับที่ 1-4 (Cervical nerve root level 1-4) ก็อาจเกิดอาการปวดศีรษะที่บริเวณท้ายทอย, ด้านข้างศีรษะ, ขมับ, กระบอกตา, หน้าผาก รวมถึงกลางกระหม่อมได้ ซึ่งทางการแพทย์จะเรียกว่าโรคนี้ว่า “โรคปวดศีรษะจากความผิดปกติของคอ” หรือ Cervicogenic headache

นอกจากนี้ ขณะที่เราใช้งาน สมาร์ทโฟน หรือ คอมพิวเตอร์ นั้น แสงที่ออกมาจากหน้าจอหรือแสงสะท้อนจากหน้าจอ ยังสามารถกระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะไมเกรนแบบเฉียบพลันขึ้น ในกลุ่มคนที่เป็นโรคไมเกรนอยู่แล้ว รวมทั้งกล้ามเนื้อที่มีอาการเกร็งปวดบริเวณคอและศีรษะ ยังสามารถกระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะไมเกรนแบบรุนแรงเฉียบพลันได้อีกด้วย

จากที่ได้กล่าวมาข้างต้น จะเห็นว่า “สังคมก้มหน้า” นั้น ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะได้หลายชนิด ซึ่งบางชนิดอาจเป็นรุนแรงจนถึงขึ้นต้องรักษาโดยการผ่าตัด ดังนั้นการใช้งานสมาร์ทโฟน หรือคอมพิวเตอร์ อย่างเหมาะสม จะเป็นการช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอาการปวดศีรษะ ในกรณีที่มีอาการปวดศีรษะจากการใช้งานสมาร์ทโฟน หรือคอมพิวเตอร์ แล้ว อาจพิจารณาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป

โดย บริษัท แมสคอท คอมมิวนิเคชั่น จำกัด 02-732-6069-70

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version