เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2558 นายอำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบนโยบายให้คณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย ก่อนเริ่มประชุมคณะกรรมการฯ นัดแรก ณ ห้องสถลสถานพิทักษ์ การยางแห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ ว่า การยางแห่งประเทศไทย หรือ กยท. เปรียบเสมือนเรือลำใหม่ที่ สร้างขึ้น เพื่อเป็นจุดเปลี่ยนแปลงในภาวะวิกฤติที่ชาวสวนยางได้รับความเดือดร้อน ดังนั้น กยท. ต้องทำงานหนักและรวดเร็ว ให้ได้ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 ที่รัฐบาลต้องการให้เป็นกฎหมายเพื่อเกษตรกร ให้เกษตรกรได้รับประโยชน์และมีส่วนร่วมบริหารจัดการ นอกจากนี้ กยท. ต้องมีบทบาทช่วยเปลี่ยนสถานะเกษตรกรจากผู้ผลิตฐานเกษตรไปเป็นเกษตรอุตสาหกรรม นำพาเกษตรกรจากต้นยางและสวนยางสู่ภาคโรงงาน การค้า และแปรรูปอุตสาหกรรม ซึ่งจะเป็นทางรอดของชาวสวนยางจากภาวะวิกฤติ
รมช.กษ. ยังคาดหวังว่าช่วง 3 เดือนแรก กยท. ต้องขับเคลื่อนโครงการพัฒนายางพาราทั้งระบบ 16 โครงการร่วมกับคณะกรรมการบริหารจัดการยางพาราระดับจังหวัด โดย กยท.จังหวัด จะทำหน้าที่เป็นเลขาของคณะกรรมการฯ ทำงานร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานอื่นๆ เพื่อให้งานยางพาราในระดับพื้นที่จังหวัดเดินหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเน้นที่การจัดสรรเงินกองทุนพัฒนายางพาราตาม พ.ร.บ.การยางฯ มาตรา 49 (3) ที่กำหนดให้ใช้เงินจำนวนไม่เกินร้อยละ 35 ให้ตกถึงมือชาวสวนยางและองค์กรเกษตรกรชาวสวนยาง และมาตรา 49 (5) ที่กำหนดให้ใช้เงินจำนวนไม่เกินร้อยละ 7 เร่งจัดสวัสดิการช่วยเหลือชาวสวนยาง ทั้งนี้ กยท. จะเป็นองค์กรที่เกิดขึ้นแล้วสร้างประโยชน์และช่วยเหลือดูแลชาวสวนยางจากภาวะวิกฤติให้เป็นรูปธรรม
อนึ่ง คณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย ในวาระเริ่มแรก ได้ประชุมครั้งที่ 1/2558 ในวันนี้ (7 สิงหาคม 2558) โดยที่ประชุมมีมติเลือกนายสมชาย ชาญณรงค์กุล ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย ตามบทเฉพาะกาล มาตรา 75 และกำหนดให้มีการประชุมทุก 2 สัปดาห์เพื่อเร่งขับเคลื่อน กยท. ทั้งระเบียบ ข้อบังคับเกี่ยวกับการบริหารจัดการงานภายในองค์กรและระเบียบ ข้อบังคับเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินกองทุนพัฒนายางพาราให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน นับจากเกิด กยท. เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2558