นายนที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวในงานเสวนาหัวข้อ “Delivery Technologies and Business Models for Mobile Television and Multimedia Services” ในงานวันสื่อสารแห่งชาติ NET 2015 ว่า กสทช.อยู่ระหว่างการผลักดันประเทศไทยไปสู่การรับส่งโทรทัศน์เคลื่อนที่หรือโมบาย ทีวี (Mobile TV ) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการชมฟรีทีวีผ่านโทรศัพท์มือถือประเภทสมาร์ทโฟนในทุกที่โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเช่นเดียวกับการชมฟรีทีวีผ่านระบบโทรทัศน์ซึ่งได้ปรับเปลี่ยนจากระบบอนาล็อกมาเป็นระบบดิจิตอลตามมาตรฐานสากลในปัจจุบันโดยได้รับความร่วมมือจากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union : ITU) ในการให้คำปรึกษา
Mr. Peter Walop ผู้เชี่ยวชาญจาก ITU กล่าวว่า โมบาย ทีวี ยังคงจะได้รับความนิยมจากผู้บริโภคอีกยาวนาน จากเดิมที่ไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควรในช่วงแรกของการให้บริการในปีพ.ศ. 2548-2549 เนื่องจากข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีการส่งผ่านข้อมูลและราคาที่ผู้ใช้จะต้องจ่ายเพิ่มค่อนข้างสูงก่อนที่จะกลับมาได้รับความนิยมอย่างสูงในปีพ.ศ. 2555–2556 ตามการขยายตัวของเทคโนโลยีของสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต ประกอบกับการเปลี่ยนถ่ายระบบการสื่อสารมาเป็นระบบสื่อสารโทรศัพท์มือถือ 4G (Long term Evolution : LTE) ทำให้เกิดการผนวกเครือข่ายการออกอากาศในระบบโทรทัศน์ (Broadcasting Networks) เข้ากับเครือข่ายระบบโทรศัพท์มือถือ (Mobile Networks) ซึ่งทำให้การกระจายภาพและเสียงไปยังโทรศัพท์สมาร์ทโฟน มีคุณภาพความคมชัดมากยิ่งขึ้นและมีราคาค่าบริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่ถูกลง
“ปัจจัยที่จะทำให้โมบายทีวีนั้นเป็นที่นิยมและไม่ล้มเหลวเหมือนในอดีต ก็คือค่าบริการที่ต้องเหมาะสม ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงโมบายทีวีได้ และการนำเสนอคอนเทนต์ ซึ่งในส่วนนี้ถือเป็นส่วนที่สำคัญที่สุด ในช่วงแรก
โมบายทีวีอาจจะใช้คอนเทนต์จากกลุ่มธุรกิจโทรทัศน์ได้ แต่ในอนาคตผู้ให้บริการโมบายทีวีก็ต้องพัฒนาคอนเทนต์ของตัวเองขึ้นมาด้วยเช่นกัน” Mr. Peter Walop กล่าว
Dr. Amal Punchihewa, Directote ABU Technology, Asia-Pacific Broadcating Union (ABU) กล่าวว่า การเข้าสู่การให้บริการระบบทีวีดิจิตอล ด้วยสัญญาณระบบ Digital Video Broadcasting – Second Generation Terrestrial (DVB-T2) ของไทย ซึ่งเป็นระบบมาตรฐานเดียวกับประเทศแถบอเมริกาและยุโรปใช้ ส่งผลให้การบริการโมบาย ทีวี ในประเทศไทยเกิดขึ้นได้ง่าย เนื่องจากไม่ต้องมีการลงทุนสร้างเครือข่ายเพิ่ม เพราะสามารถเชื่อมต่อเพื่อใช้งานร่วมกับระบบเครือข่าย LTE ได้ทันทีทำให้มีการส่งผ่านข้อมูลที่รวดเร็ว
อย่างไรก็ตามในช่วงปลายปีนี้ ประเทศไทยจะมีการเปิดประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz และ 900 MHz ซึ่งจะเป็นช่องสัญญาณสำหรับโครงข่าย 4G ส่งผลให้ประชาชนสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ได้ง่ายและครอบคลุมทั่วประเทศและส่งผลต่อ Mobile Television ในประเทศไทยเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด