โดยการหารือในครั้งนี้ ภูฏานได้ให้ความสนใจในการศึกษาแนวทางการพัฒนางานด้านปศุสัตว์ของไทย เนื่องด้วยในปัจจุบันผลผลิตด้านปศุสัตว์ที่ภูฏานผลิตได้เอง คือไข่ไก่ นอกจากนั้นเป็นการนำเข้าผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์จากต่างประเทศ ภูฏานจึงมีความต้องการที่จะส่งเสริมการผลิตสินค้าปศุสัตว์ภายในประเทศ ได้แก่ การเลี้ยงสุกร การเลี้ยงโคนม และการพัฒนาโรงฆ่าสัตว์ เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้า จึงมีความประสงค์ให้กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมปศุสัตว์ ช่วยให้คำแนะนำในการจัดหาแหล่งพันธุ์สุกรและพันธุ์โคนมพันธุ์ดี ตลอดทั้งแนวทางการพัฒนาฟาร์มปศุสัตว์ให้ได้คุณภาพมาตรฐาน เพื่อสนับสนุนการสร้างความมั่นคงด้านอาหารของภูฏานต่อไป ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ มีความยินดีที่จะช่วยเหลือกระทรวงเกษตรและป่าไม้ภูฏาน ในด้านการปศุสัตว์ รวมทั้งการดูแลสุขภาพสัตว์ โดยในโอกาสนี้ กรมปศุสัตว์ได้นำรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและป่าไม้ภูฏาน และคณะ เข้าเยี่ยมชมฟาร์มสุกรและฟาร์มโคนม ที่ จ.ชัยนาท รวมทั้งเข้าพบผู้บริหารขององค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อสค.) เพื่อศึกษาแนวทางในการจัดหาแหล่งสุกรและโคนมพันธุ์ดี สำหรับนำไปขยายพันธุ์ในประเทศภูฏาน พร้อมทั้งเข้าหารือกับคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เกี่ยวกับแนวทางในการบริหารจัดการด้านสุขภาพสำหรับสัตว์เลี้ยง เพื่อนำมาพัฒนาและปรับปรุงมาตรฐานโรงพยาบาลสัตว์เล็กในประเทศภูฏานด้วย
สำหรับด้านการค้าระหว่างไทยและภูฏานนั้น ภูฏานเป็นคู่ค้าในตลาดโลกอันดับที่ 132 ของไทย ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา (2552-2556) การค้ารวมมีมูลค่าเฉลี่ย 16.08 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยในปี 2556 การค้ารวมมีมูลค่า 25.84 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 66.45 โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า 25.75 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ด้านการส่งออก ภูฏานเป็นตลาดส่งออกในตลาดโลกอันดับที่ 128 ของไทย ในระหว่างปี 2552-2556 การส่งออกมีมูลค่าเฉลี่ย 15.94 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยในปี 2556 มีการส่งออกมีมูลค่า 25.80 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 70.07 โดยมีสินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ผ้าผืน สิ่งทออื่นๆ เครื่องนุ่งห่ม ผลิตภัณฑ์พลาสติก เคหะสิ่งทอ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องตัดต่อและป้องกันวงจรไฟฟ้า เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เป็นต้น
ขณะที่ด้านการนำเข้า ภูฏานเป็นแหล่งนำเข้าจากตลาดโลกอันดับที่ 211 ของไทย ในระหว่างปี 2552-2556 โดยการนำเข้ามีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 0.15 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2556 มีการนำเข้ามีมูลค่า 0.04 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งลดลงร้อยละ 88.26 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านี้