นายอำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมและปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "ทำอย่างไรจึงให้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเป็นความคาดหวังของรัฐบาลและเกษตรกรไทย" ในโอกาสการประชุมสรุปผลดำเนินการ 3 ไตรมาส ประจำปีงบประมาณ 2558 สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ณ โรงแรมทีเค พาเลซ แจ้งวัฒนะ ว่า ปัจจุบันรัฐบาลได้ให้ความสำคัญในระดับสูงต่อการแก้ไขปัญหาหนี้ของประชาชนและเกษตรกร ขณะเดียวกัน คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ดำเนินการขับเคลื่อนในทุกกลไกของรัฐที่มีอยู่เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยใช้กลไกของกระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในทุกระดับ รวมถึงกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรด้วย
นายอำนวย กล่าวต่อไปว่า กระทรวงเกษตรฯ มีกลไกการจัดการหนี้สินเกษตรกร 5 กลไก ประกอบด้วย 1.คณะกรรมการกองทุนและพัฒนาเกษตรกร 2.คณะกรรมการกองทุนพัฒนาสหกรณ์ฯ 3.คณะกรรมการช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจน (กชก.) 4.กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร และ 5. คณะกรรมการนโยบายและแผนกระทรวงเกษตรฯ ทั้งนี้ กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเป็นเครื่องมือของรัฐบาลที่มีกฎหมายรองรับ และเป็นที่เชื่อมั่นของกระทรวงเกษตรฯ ว่า จะสามารถช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรได้ ดังนั้น กองทุนฟื้นฟูฯ จะต้องเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานให้สามารถตอบสนองความคาดหวังของ คสช. รัฐบาล และเกษตรกรได้อย่างแท้จริง
โดยนโยบายเร่งด่วนที่จะเร่งดำเนินการในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน 2558 นี้ คือ การเร่งรัดปฏิรูปฐานข้อมูลทะเบียนองค์กรเกษตรกร และทะเบียนเกษตรกร(ทะเบียนหนี้) อาทิ การสำรวจข้อมูลความมีอยู่จริงขององค์กรเกษตรกร การจัดกลุ่มองค์กร วางแผนพัฒนา กำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน และการจัดทำระเบียน (record) ข้อมูลเกษตรกรที่เตรียมชำระหนี้แทน ซึ่งต้องเป็นข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน
"รัฐบาลได้มีการบูรณาการแผนการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรและประชาชน ทั้งหนี้ในระบบและหนี้นอกระบบ โดยใช้กลไกของกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงยุติธรรม ในการบูรณาการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร สำหรับการแก้ไขหนี้สินเกษตรในส่วนของกองทุนฟื้นฟูฯ จะต้องปรับข้อมูลการขึ้นทะเบียนให้เป็นปัจจุบัน ซึ่งเดิมมีการขึ้นทะเบียนไว้ประมาณ 5 แสนราย แต่เมื่อตรวจสอบข้อมูลที่แท้จริงพบว่า มีอยู่ประมาณ 2 แสนกว่าราย ซึ่งเป็นตัวเลขหนี้ในระบบและนอกระบบที่ตรวจสอบแล้ว และสอดคล้องกับข้อมูลของกระทรวงมหาดไทย ทั้งนี้ ได้มอบนโยบายให้สำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ สาขาจังหวัดทั่วประเทศ แยกหมวดหมู่ข้อมูลเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียน วิธีจัดการ เป้าหมาย และระบบการจัดการ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณ 2 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กองทุนฟื้นฟูฯ ควรยึดถือปฏิบัติเพื่อให้เป็นความคาดหวังของรัฐบาลและเกษตรกรไทย คือ 1.ต้องปฏิรูปองค์กรให้มีความโปร่งใสเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล (Good governance) โดยใช้เงินของรัฐบาลอย่างคุ้มค่า มีระบบการควบคุมภายใน มีมาตรการกำกับ ติดตามการดำเนินงานอย่างเข้มข้น 2.เป้าหมายในการฟื้นฟูหนี้ต้องชัดเจน ข้อมูลเกษตรกรต้องเป็นปัจจุบัน และ 3.การสร้างความเข้าใจกับเกษตรกรและประชาชน รวมทั้งพัฒนาความร่วมมือกับหน่วยงานตรวจสอบและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาเกษตรกร เช่น สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง. ) และสถาบันวิชาการต่าง ๆ " นายอำนวย กล่าว