ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ ผู้จัดการงานวิจัย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาการพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพของไทยยังขาดรูปแบบของการมีส่วนร่วมที่ชัดเจนจากทุกภาคส่วนในการวางแผน เช่น การขาดกลไกการประสานระหว่างสถาบันการผลิตและสถานพยาบาล อาจส่งผลต่อการผลิตที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของระบบสุขภาพ เกิดการขาดแคลนในบางวิชาชีพ ในขณะที่บางวิชาชีพมีแนวโน้มจะเกินความต้องการ ทั้งนี้การนำแนวคิดระบบธรรมาภิบาลมาใช้วางแผนกำลังคนในระบบสุขภาพจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในอนาคต
"สวรส. ได้สนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยโดยมอบหมายให้สำนักงานวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ (สวค.) ทำการศึกษาทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับรูปแบบของบทบาทและความร่วมมือระหว่างผู้ใช้ ผู้ผลิตและผู้เกี่ยวข้องกับการพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ และสังเคราะห์ข้อเสนอเชิงนโยบายในการวางแผนกำลังคนด้านสุขภาพอย่างเหมาะสม ทันต่อการเปลี่ยนแปลง และตรงกับความต้องการของผู้ใช้" ผศ.ดร.จรวยพร กล่าว
ดร.นารีรัตน์ ผุดผ่อง สวค. เครือข่ายนักวิจัย สวรส. เผยว่า การวิจัยเบื้องต้นนี้ได้ทำการทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับรูปแบบของบทบาทและความร่วมมือระหว่างผู้ใช้ ผู้ผลิตและผู้เกี่ยวข้องฯ จากหลักฐานที่มีอยู่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนการสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย และใช้เวทีนี้ในการระดมความคิดเห็นต่อข้อเสนอเบื้องต้น ซึ่งได้ใช้กรอบแนวคิดธรรมาภิบาลมาประยุกต์กับการวางแผนกำลังคน ได้แก่ การมีส่วนร่วมในเรื่องนโยบาย การมีวิสัยทัศน์ระยะยาวในการพัฒนา การตอบสนองความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การรับผิดชอบร่วมกันต่อสาธารณะซึ่งมีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ มีความยุติธรรมและเคารพต่อกฎระเบียบต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีกลไกคณะกรรมการกำลังด้านสุขภาพแห่งชาติเป็นกลไกหลักเชิงนโยบายและขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ทศวรรษกำลังคนฯ ไปสู่การปฏิบัติ
"ข้อเสนอในการพัฒนาต่อคือ การพัฒนากลไกความร่วมมือ โดยดึงกลุ่มตัวแทนที่มีอำนาจตัดสินใจแทนภาคส่วน มีบทบาทชัดเจนมาร่วมผลักดัน หรืออาศัยกลไกสานเสวนาแบบสันติจากประเด็นที่ขัดแย้ง เป็นต้น และ การมีรูปแบบการวางแผนฯ จากการมีส่วนร่วม เช่น คณะกรรมการกำลังคนฯ ที่มีอยู่แล้วต้องมีกระบวนการขับเคลื่อนชัดเจน หรือการมีองค์กรควบคุมกำกับด้านสุขภาพของชาติ ที่ยังคงต้องพิจารณาความเหมาะสมว่าควรอยู่ภายใต้กระทรวงสาธารณสุขหรือเป็นองค์กรภายนอก" ดร.นารีรัตน์ กล่าว
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ที่ปรึกษากระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การจัดทำแผนกำลังคนด้านสุขภาพต้องคำนึงถึง 3 ประเด็น คือ การวางแผนโดยมองระยะยาว (Long Plan) การรีบดำเนินการตามแผน (Act Short) และการปรับแผนการดำเนินการตามสถานการณ์บ่อยๆ (Adjust Often) ตัวอย่างการผลิตแพทย์ 1 รุ่น จะต้องใช้ระยะเวลาในการเรียนหลายปี จึงควรมีแผนระยะยาว และเริ่มทำได้ทันที ที่สำคัญจะต้องค่อยปรับแผนที่วางไว้ให้ตามบริบทของสังคมขณะนั้น
"วันนี้เห็นได้ว่าแผนกำลังคนด้านสุขภาพ มีในหลายๆหน่วยงาน แต่ก็ต่างคนต่างทำ การวางแผนก็จะกระโดดไปที่ความต้องการกำลังคน แต่ไม่ได้มองไปที่ความจำเป็นทางด้านความต้องการรับบริการ จึงต้องกลับมาคิดกลไกการบูรณาการจัดทำแผนเพื่อความสมดุลของระบบกำลังคน สิ่งหนึ่งที่ผู้กำหนดนโยบายอยากได้จากงานวิจัย คือ บทเรียนจากความล้มเหลวจากที่ผ่านมา ว่ามีเรื่องใดที่ต้องการอุดช่องว่างของปัญหาบ้าง" นพ.ศุภกิจ กล่าว
ทางด้าน รศ.พญ.นันทนา ศิริทรัพย์ กรรมการผู้อำนวยการ ศูนย์ทดสอบทางวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในมุมของผู้ผลิตกำลังคนฯ กล่าวว่า การใช้แนวคิดธรรมาภิบาลเข้ามาจับกับการวางแผนกำลังคนเป็นเรื่องที่น่าสนใจ ในอดีตมีความพยายามในการสร้างหลักสูตรเพื่อเอื้อให้มีแพทย์มากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนในชนบท แต่พบว่ายังมีแนวคิดที่ไม่ตรงกันเกี่ยวกับการผลิต เช่น โรงเรียนแพทย์ใช้หลักคิดการผลิตเพื่อให้ได้กำลังคนที่เก่งที่สุด แต่กระทรวงสาธารณสุขใช้หลักคิดการผลิตเพื่อให้ได้กำลังคนที่เพียงพอต่อการให้บริการ ดังนั้น ต้องคำนึงถึงกระบวนการที่ตอบสนองความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนตามหลักธรรมาภิบาล
ดร.พญ.ประภา วงศ์แพทย์ ที่ปรึกษาสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวว่า การวางแผนกำลังคนจำเป็นต้องคำนึงถึงความต้องการของประชาชนด้วย ส่วนหนึ่งของระบบบริการอยู่ในภาคเอกชน ดังนั้นควรให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการออกแบบระบบกำลังคนด้านสุขภาพมากกว่าที่เป็นอยู่ ที่สำคัญคือการทบทวนไปถึงกำลังคนสุขภาพที่กำหนดไว้ในกฎหมายอื่นๆ ด้วย เช่น ในโรงงานกำหนดให้มีหมอมีพยาบาลประจำ ก็พบว่ายังมีน้อย ฉะนั้นเราควรกลับมาเริ่มต้นใหม่ว่าในมิติสุขภาพ กำลังคนทั้งในและนอกสถานพยาบาลมีวิชาชีพใดบ้างและใครจะมาดูแล
ขณะที่ รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยว่า การทำงานวิจัยด้านกำลังคน ต้องใช้แนวคิดเชิงวิชาการนำ การออกแบบระบบกำลังคนมีความสลับซับซ้อน และต้องการการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ถึงแม้จะมีกลไกคณะกรรมการกำลังด้านสุขภาพแห่งชาติและมีแผนยุทธศาสตร์ทศวรรษกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ แต่ยังไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม