นพ.ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดอุบลราชธานี (สคร.7) กล่าวว่า ช่วงฤดูฝนของทุกปีจะพบผู้ป่วยและเสียชีวิตจากการกินเห็ดพิษที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ ได้แก่ เห็ดตับเต่าบางชนิด เห็ดระโงกหิน เห็ดสมองวัว เห็ดน้ำหมึก เห็ดหิ่งห้อย เห็ดเกล็ดดาว เป็นต้น โดยเห็ดที่มีพิษรุนแรงถึงชีวิตที่พบได้บ่อยคือ เห็ดระโงกหิน เห็ดระงาก หรือเห็ดสะงาก และเห็ดไข่ตายซาก ซึ่งมีรูปร่างคล้ายกับเห็ดระโงกที่กินได้ ข้อมูลการเฝ้าระวังของกลุ่มระบาดวิทยาและข่าวกรอง พบว่า ในปี 2558 จังหวัดที่อยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ 7 จังหวัด มีผู้ป่วยจากการกินเห็ดพิษแล้ว 235 ราย เสียชีวิต 2 ราย พบมากที่สุดในจังหวัดอุบลราชธานี 154 ราย รองลงมาคือจังหวัดศรีสะเกษ 39 ราย
นพ.ศรายุธ กล่าวอีกว่า ผู้ป่วยที่กินเห็ดพิษส่วนใหญ่ เกิดจากความมั่นใจว่าเป็นเห็ดไม่มีพิษ เพราะมีลักษณะคล้ายคลึงกับเห็ดกินได้ โดยเฉพาะขณะเห็ดยังดอกตูม วิธีสังเกตเห็ดที่ควรหลีกเลี่ยงไม่เก็บมากินคือ เห็ดที่มีสีน้ำตาล เห็ดที่ปลอกหุ้มโคน เห็ดที่มีวงแหวนใต้หมวก เห็ดที่มีโคนอวบใหญ่ เห็ดที่มีปุ่มปม เห็ดที่มีหมวกสีขาว เห็ดที่มีหมวกเห็ดเป็นรูปๆ แทนที่จะเป็นช่องๆ คล้ายครีบปลา เห็ดตูมที่มีเนื้อในสีขาว เห็ดที่ขึ้นที่มูลสัตว์หรือใกล้มูลสัตว์ ที่สำคัญคือไม่ควรเก็บหรือซื้อหาเห็ดป่าที่ไม่รู้จักมาปรุงอาหารกินเพื่อ ความปลอดภัย
นพ.ศรายุธ กล่าวด้วยว่า การเก็บเห็ดที่ขึ้นตามธรรมชาติให้เก็บเห็ดที่มีรูปร่างสมบูรณ์ เก็บให้ครบทุกส่วนโดยขุดให้ลึก อย่าเก็บเห็ดหลังพายุใหม่ เพราะสีบนหมวกของเห็ดบางชนิดอาจถูกฝนชะล้างให้จางลงได้ ไม่เก็บเห็ดที่ขึ้นใกล้โรงงานสารเคมี สวนยางพารา สนามกอล์ฟ หรือข้างถนน เนื่องจากเห็ดสามารถดูดซับสารพิษและโลหะหนักไว้ในตัวได้มาก เห็ดที่ไม่เคยกินมาก่อนควรกินเพียงเล็กน้อยเพราะอาจมีอาการแพ้ได้ และห้ามกินเห็ดดิบๆ โดยเด็ดขาด
ทั้งนี้ อาการของผู้กินเห็ดพิษจะต่างกันไปตามชนิดของเห็ด ส่วนใหญ่จะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว ปวดท้อง เป็นตะคริว อาจเกิดขึ้นหลังกินไม่กี่นาที หลายชั่วโมง หรือหลายวัน ในรายที่อาการรุนแรงจะเสียชีวิตได้ภายใน 1- 8 วัน จากการที่ตับถูกทำลาย ดังนั้น วิธีการช่วยเหลือที่สำคัญคือ ทำให้ผู้ป่วยอาเจียนออกมาให้มากที่สุด โดยดื่มน้ำอุ่นผสมเกลือแกงแล้วล้วงคอออก เพื่อลดการดูดซึมพิษเข้าร่างกาย แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลใกล้บ้านทันที พร้อมนำเห็ดที่รับประทานไปด้วย หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮอตไลน์ กรมควบคุมโรค โทร.1422 นพ.ศรายุธ กล่าวปิดท้าย