นายวีระศักดิ์ อักษรถึง คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยถึงโครงการอบรมความรู้เชิงปฏิบัติการวัฒนธรรมดนตรี-นาฏศิลป์อาเซียนในภูมิภาค พ.ศ.2558 วันที่ 17-18 ส.ค. ณ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มรภ.สงขลา ว่า เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างกรมอาเซียน กระทรวงต่างประเทศ สมาคมครูดนตรี (ประเทศไทย) และคณะศิลปกรรมศาสตร์ สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มรภ.สงขลา เพื่อเปิดโอกาสให้ครูผู้สอนดนตรีไทย ดนตรีสากล และครูสอนนาฏศิลป์ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในพื้นที่ภาคใต้ ราว 200 คน ได้ฝึกปฏิบัติและแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมดนตรี-นาฏศิลป์ร่วมกับวิทยากร จาก 10 ประเทศในอาเซียน อาทิ ทฤษฎีดนตรีกัมพูชา นาฏศิลป์และการแสดงบรูไน อังกะลุงประยุกต์ อินโดนีเซีย ดนตรีลาวลุ่ม ลาวชนเผ่า พื้นฐานนาฏศิลป์พม่า วัฒนธรรมดนตรีฟิลิปปินส์ นาฏศิลป์และการแสดงเวียดนาม วัฒนธรรมดนตรีสิงคโปร์ เช็ง ศิลปะการแสดงมะโย่งมาเลเซีย นาฏศิลป์จีนในสิงคโปร์และมาเลเซีย รำตะเกียงบูชา รำโยเดีย เป็นต้น
นอกจากนั้น ยังมีบรรยายพิเศษ ความสำคัญของการจัดการศึกษาดนตรีนาฏศิลป์อาเซียน โดย รศ.ดร.ปัญญา รุ่งเรือง จากสมาคมครูดนตรี (ประเทศไทย) ตลอดจนการสอนโนราให้แก่แก่วิทยากรอาเซียนและผู้สนใจ (แปลเป็นภาษาอังกฤษ) โดย อ.โอภาส อิสโม ผู้อำนวยการสำนักศิลปะฯ และคณะศิลปินโนรา การแสดงพื้นบ้านนาฏยรังสรรค์ ระบำบาติก ระบำนฤมิตรวิจิตรชาตรี การแสดงจากวงออร์เคสตรา มรภ.สงขลา เพลงรองเง็ง-เพลงไทยเดิม-เพลงลาว ระบำเทพศรีศรัทธา การแสดงโดยศิลปินอาเซียน 9 ชาติ
"การสร้างความสามัคคีในการพัฒนาประชาคมอาเซียนให้เป็นหนึ่งเดียวในความหลากหลายนั้น ระบบการศึกษาที่แข็งแกร่งและทัศนคติที่เปิดกว้างในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันและกันถือเป็นรากฐานสำคัญ ซึ่งวิชาความรู้ทางศิลปวัฒนธรรมด้านดนตรีและนาฏศิลป์อาเซียน เป็นหนทางหนึ่งที่จะทำให้เยาวชนของชาติเกิดความเข้าใจในเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของแต่ละชนชาติ และชื่นชมในมรดกวัฒนธรรมอาเซียนร่วมกัน ขณะเดียวกันครูดนตรีและนาฏศิลป์คือตัวกลางในการส่งต่อความรู้ไปยังผู้เรียน เพื่อให้ร่วมผดุงรักษาวัฒนธรรมอาเซียนให้ยั่งยืน" คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มรภ.สงขลา กล่าว