นายชัยชาญ พลานนท์ ผู้บริหารกลุ่ม กลุ่มบริหารทรัพย์สินพร้อมขาย ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานเกี่ยวกับการขายทรัพย์ NPA ในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมาว่า ในช่วงครึ่งปีแรกธนาคารสามารถจำหน่ายทรัพย์ NPA ได้ต่ำกว่าเป้าหมาย เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจยังคงชะลอตัว โดยส่วนใหญ่ทรัพย์ที่จำหน่ายได้จะเป็นประเภทที่ดินเปล่า ทั้งนี้ ธนาคารได้จัดการประมูลให้เกิดการแข่งขันราคาทรัพย์เพื่อการลงทุน โดยสามารถจำหน่ายทรัพย์รวมทั้งสิ้นกว่า 500 ล้านบาท นอกจากนี้แล้วธนาคารได้มีการวางแผนสำหรับการบริหารจัดการพอร์ตทรัพย์ให้เหมาะสมกับตลาด ให้สามารถทำการตลาดทรัพย์แต่ละประเภทให้ตรงกับลูกค้าแต่ละกลุ่ม โดยได้แบ่งลูกค้าออกเป็น 3 กลุ่มคือ ลูกค้าทั่วไป นักลงทุน ผู้ประกอบการรายย่อย นอกจากนี้ยังเพิ่มจำนวนสมาชิกนักขายเพื่อขยายช่องทางการจำหน่ายทรัพย์ NPA ของธนาคารให้มากยิ่งขึ้น
สำหรับแผนการตลาดและกิจกรรมส่งเสริมการขายทรัพย์ NPA ในช่วง 2 ไตรมาสสุดท้ายนั้น ธนาคารได้จัดเตรียมทรัพย์ NPA เพื่อออกขายในงาน NPA & Resale Home 2015 พร้อมกับจัดแคมเปญอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม-6 กันยายน 2558 โดยจะเน้นทรัพย์ในกลุ่มที่อยู่อาศัยและทรัพย์เพื่อการลงทุน สนับสนุนกลุ่มตลาดลูกค้ารายย่อย รวมจำนวนทรัพย์ NPA ทั้งสิ้นกว่า 2,000 รายการ มูลค่ากว่า 4,500 ล้านบาท ประเภททรัพย์มีความหลากหลายยิ่งขึ้นกว่าเดิม ทั้งบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ คอนโดฯ เพื่อขยายตลาดไปสู่กลุ่มนักลงทุนรายย่อย กับโปรโมชั่น 3 OK ลดราคาพิเศษสูงสุดถึง 50% ค่าโอนกรรมสิทธิ์เพียง 1% และอัตราดอกเบี้ยพิเศษ 0% นาน 12 เดือน ที่สำคัญผู้ที่เยี่ยมชมบูธ KTB-NPA ภายในงาน NPA & Resale Home 2015 ในระหว่างวันที่ 20-23 สิงหาคม 2558 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โซนซี ชั้น 2 ทางธนาคารกรุงไทยยังอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าสามารถรูดบัตรเครดิต KTC เพื่อจองซื้อทรัพย์ นอกจากนี้แล้วธนาคารเตรียมจัดการประมูลเพื่อแข่งขันราคาทรัพย์ที่มีศักยภาพในการลงทุนและอยู่บนทำเลดี รวมถึงมีแผนจะนำทรัพย์เข้าร่วมงานมหกรรมอื่นๆ ที่จะมีขึ้นในปลายปีนี้โดยผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดได้ทางเว็บไซต์ www.ktb.co.th/npa และ Facebook Fanpage : KTB NPA Care ต่อไป หรือโทร. 0-2208-8333
นายชัยชาญ ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับความต้องการซื้อทรัพย์จากสถาบันการเงินว่า ทรัพย์ NPA ของธนาคารยังคงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจมากทั้งในแง่ของการลงทุนและการอยู่อาศัย เนื่องจากมีหลากหลายประเภทและทำเลให้เลือก ที่สำคัญเป็นทรัพย์มีต้นทุนที่ค่อนข้างต่ำจึงสามารถนำไปพัฒนาต่อได้ นอกจากนี้ธนาคารยังสามารถให้บริการด้านธุรกรรมการเงินอย่างครบวงจร ทั้งด้านสินเชื่อและการชำระค่าบริการโดยเน้นความน่าเชื่อถือในการให้บริการและสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างครบวงจร
“ปัญหา NPL ในระบบธนาคารพาณิชย์ยังปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การบริหารจัดการหนี้ทำได้ยากลำบากขึ้น เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย ซึ่ง NPL ส่วนใหญ่เป็นหนี้ในกลุ่มสินเชื่อเอสเอ็มอีและสินเชื่อรายย่อย โดยแนวทางการบริหารจัดการมีทั้งการปรับโครงสร้างหนี้และตัดขายออกบางส่วน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงจาก NPL ให้เป็นสินทรัพย์ NPA จึงมีส่วนในการจัดการปัญหาหนี้เสียและยังสามารถสร้างโอกาสในการลงทุนให้นักลงทุน ต่อยอดในการจ้างงานและช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ด้วย” นายชัยชาญกล่าว
อย่างไรก็ตาม ธนาคารได้ร่วมมือกับองค์กรอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดการขายทรัพย์ NPA โดยธนาคารเป็นประธานชมรมสินทรัพย์รอการขายของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งประกอบไปด้วยธนาคารและสถาบันการเงินชั้นนำกว่า 10 แห่ง และได้ร่วมกันจัดมหกรรมลดราคาทรัพย์สินพร้อมขายในชื่องาน “มหกรรมบ้านธนาคาร” ซึ่งจัดขึ้น ปีละ 4 ครั้งในแต่ละภูมิภาค เพื่อขยายตลาดและเปิดโอกาสให้กลุ่มลูกค้าในภูมิภาคได้มีโอกาสเข้าถึงอสังหาริมทรัพย์ของธนาคาร นอกจากนี้ธนาคารได้เพิ่มช่องทางการจำหน่าย NPA ของธนาคารผ่านสถาบันอื่น ๆ ได้แก่ บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด และบริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด อีกด้วย