ทั้งนี้กลุ่มวิจัยหลักสูตรวิศวกรรมชีวภาพ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้เห็นความสำคัญนี้และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้การวิจัยเพื่อการรักษาทางด้านนี้ในประเทศไทยพัฒนามากขึ้น รศ.ดร.ขวัญชนก พสุวัต ประธานหลักสูตรวิศวกรรมชีวภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. เปิดเผยว่า องค์ประกอบที่สำคัญที่ทำให้การรักษาด้วยเวชศาสตร์ฟื้นฟูสภาวะเสื่อมประสบความสำเร็จคือ คุณภาพและปริมาณของเซลล์ที่จะนำไปรักษา
"เรานำสิ่งที่เราถนัดอย่างเรื่องวิศวกรรมและเทคโนโลยีเข้าไปช่วยให้การผลิตเซลล์ง่ายขึ้น มีคุณภาพที่ดีขึ้นและได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในต่างประเทศ แต่การแยกและเลี้ยงเซลล์เพื่อการรักษานั้นต้องผลิตเซลล์ให้ได้ปริมาณมาก ขณะที่การแยกและเลี้ยงเซลล์ด้วยฝีมือคนนั้นถึงแม้จะเป็นนักเทคนิคที่มีประสบการณ์สูงก็สามารถควบคุมคุณภาพได้ยาก อีกทั้งในประเทศไทยมีเพียงไม่กี่แห่งที่สามารถแยกและเลี้ยงเซลล์สำหรับปลูกถ่ายอีกทั้งยังเป็นระดับเพื่อการวิจัยเท่านั้น เราจึงเริ่มที่จะนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาช่วยในการแยกและเลี้ยงเซลล์ ซึ่งในเยอรมันและญี่ปุ่นกำลังให้ความสำคัญมากในเรื่องนี้"
รศ.ดร.ขวัญชนก กล่าวอีกว่า กลุ่มวิจัยหลักสูตรวิศวกรรมชีวภาพ มจธ. จัดตั้งโครงการงานวิจัยการผลิตเซลล์เชิงพาณิชย์โดยใช้ระบบอัตโนมัติในการเลี้ยงเซลล์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนทางด้านครุภัณฑ์สำหรับเครื่องเลี้ยงเซลล์อัตโนมัติมูลค่ากว่า 44 ล้านบาท จากศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันและกระตุ้นให้เกิดงานวิจัยและธุรกิจทางด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูสภาวะเสื่อมในประเทศไทย พร้อมทั้งกำหนดและจัดทำมาตรฐานเพื่อควบคุมคุณภาพและการผลิตให้ได้ GMP ตามมาตรฐานของญี่ปุ่นเพื่อความปลอดภัยต่อผู้ใช้ และโครงการนี้ยังได้รับความร่วมมือจากบริษัท Shibuya Kogyo จากญี่ปุ่นในการเป็นที่ปรึกษาทางด้านเทคโนโลยีอัตโนมัติที่ใช้กับเครื่องเลี้ยงเซลล์ อีกทั้งยังได้รับความร่วมมือจากภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ Osaka University ในการร่วมวิจัย
"ความพิเศษของเครื่องคือเราสามารถเขียนโปรแกรมให้ทำการเลี้ยงเซลล์ได้หลายตัวอย่างพร้อมกันโดยไม่มีการปนเปื้อน จากเดิมที่ทำการเลี้ยงเซลล์ด้วยนักเทคนิคสามารถทำได้เพียงครั้งละ 1 ตัวอย่างจากคนไข้ 1 คนเท่านั้นเพื่อไม่ให้เกิดการปนเปื้อน ซึ่งเซลล์คนไข้หนึ่งคนใช้เวลาเลี้ยงเกือบเดือนเท่ากับว่า ใน 1 ปีจะเลี้ยงเซลล์เพื่อรักษาคนไข้ได้เพียง 12 คนเท่านั้น แต่เครื่องเลี้ยงเซลล์อัตโนมัติเครื่องนี้เป็นหุ่นยนต์จึงสามารถทนทานต่อการฆ่าเชื้อด้วยก๊าซไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ทำให้สะอาดและป้องกันแบคทีเรียได้ดีสามารถเพาะเลี้ยงเซลล์ได้ครั้งละหลายตัวอย่าง ทำงานได้มากเป็น3-4เท่าของเครื่องเดิม เพราะหุ่นยนต์ใช้พื้นที่น้อยลงทำงานได้ตลอดเวลาทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายและสามารถทำเป็น Mass Production ได้ ทั้งนี้มจธ.ต้องเขียนซอฟแวร์เพื่อควบคุมการทำงานให้จำเพาะกับความต้องการเครื่องเลี้ยงเซลล์อัตโนมัติ ส่วนตัวเครื่องจะถูกนำไปติดตั้งที่ตึก Bio Process Research and innovation ที่ มจธ. บางขุนเทียน"
รศ.ดร.ขวัญชนก กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากหนึ่งปีที่ระบบของเครื่องเสร็จสมบูรณ์จะเริ่มผลิตเซลล์ออกมาเพื่องานวิจัยทางคลินิกก่อนโดยเริ่มจากความรู้ที่มีคือการรักษาโรคเกี่ยวกับเข่า หรืองานทางด้านทันตแพทย์ เช่น โรคปากแหว่งเพดานโหว่ โดยการนำเซลล์มาทำเป็นกระดูกอ่อนใส่กลับเข้าไปให้คนไข้ และเพื่อประชาสัมพันธ์โครงการให้เป็นที่รู้จักและสร้างเครือข่ายหน่วยงาน จึงได้มีการจัดเสวนา เรื่อง KMUTT Special Seminar on "Regenerative Medicine Opportunities in Thailand and Japan" ขึ้นในวันที่ 21 สิงหาคม 2558 ณ ห้องบอลรูม โรงแรมชาเทรียม เพื่อให้ผู้เข้าร่วมทราบถึงสภาวะปัจจุบันของการนำเซลล์ไปใช้ในการรักษา สำหรับผู้สนใจภายในงานจะมีการบรรยายในเรื่อง ความต้องการงานวิจัยที่เกี่ยวกับเวชศาสตร์ฟื้นฟูสภาวะเสื่อมในประเทศไทย การนำระบบอัตโนมัติมาใช้ในการผลิตและควบคุมมาตรฐานของเซลล์สำหรับการรักษา ความก้าวหน้าและโอกาสทางธุรกิจของอุตสาหกรรมเวชศาสตร์ฟื้นฟูสภาวะเสื่อมในประเทศไทย และมาตรฐานการควบคุมการผลิตเซลล์ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ในระดับประเทศ