ดร. วิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า "การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่จะเกิดขึ้นในสิ้นปี 2558 นี้ ประเทศเมียนมาถือเป็นประเทศที่ถูกจับตามากที่สุดเนื่องจากเมียนมาเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางการค้าสูง โดยประเทศไทยติดอันดับเป็น 1 ใน 5 ประเทศที่มีการลงทุนสูงที่สุดในเมียนมา และเป็นอันดับ 2 ทางด้านการค้า ในฐานะธนาคารชั้นนำของประเทศ ไทยพาณิชย์จึงให้ความสำคัญในการให้ความสนับสนุนแก่ธนาคารท้องถิ่นของประเทศเมียนมาเพื่อผลักดัน การพัฒนาทางเศรษฐกิจและกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยและเมียนมา
ทั้งนี้ ธนาคารฯ มีความเชื่อมั่นในศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ CLMV และประเทศไทยจะมีบทบาทสำคัญในอนาคตอันเนื่องมาจากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่มีพื้นที่ติดต่อกับกลุ่มประเทศ CLMV เกือบทั้งหมด รวมถึงระดับการพัฒนาของประเทศและโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพอันถือเป็นข้อได้เปรียบสำหรับประเทศไทยและกลุ่มประเทศ CLMV โดยเฉพาะเมียนมานั้น ธนาคารได้เริ่มความสัมพันธ์ทางธุรกิจในเมียนมา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 และในปี พ.ศ. 2555 ธนาคารได้เปิดสำนักงานตัวแทนธนาคารไทยพาณิชย์อย่างเป็นทางการ ณ กรุงย่างกุ้ง เพื่อรองรับโอกาสทางการค้าการลงทุนระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ถึงแม้ธนาคารยังไม่ได้รับใบอนุญาตในการเปิดสาขาในเมียนมา และมีความคาดหวังที่จะได้รับในอนาคต อย่างไรก็ตามธนาคารยังคงมุ่งมั่นในการให้บริการลูกค้าที่ต้องการไปลงทุนยังเมียนมาให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ผ่านการดำเนินงานจากประเทศไทยและสิงคโปร์ การสนับสนุนทางธุรกิจแก่ธนาคารท้องถิ่นของเมียนมา 7 แห่งครั้งนี้ เพื่อสานต่อความสัมพันธ์ทางธุรกิจระหว่างไทยพาณิชย์และเมียนมา รวมถึงเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ธนาคารของเมียนมาในการดูแลลูกค้าธุรกิจในเมียนมาได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น"
ความสำเร็จในการให้การสนับสนุนทางธุรกิจในครั้งนี้ เกิดขึ้นจากความร่วมมือของกระทรวงการคลังเมียนมา และ ธนาคารกลางเมียนมา พร้อมด้วยธนาคารท้องถิ่นทั้ง 7 แห่ง ที่ให้โอกาสไทยพาณิชย์ในการให้การสนับสนุนทางธุรกิจเพื่อผลักดันการเติบโตด้านการค้าระหว่างประเทศของลูกค้าธุรกิจเมียนมา และลูกค้าไทยทำธุรกิจในเมียนมา เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าที่ทำธุรกิจกับธนาคารทั้ง 7 แห่ง สามารถทำธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งยังเป็นการบริหารความเสี่ยงให้แก่ผู้ซื้อ ผู้ขาย และธนาคารท้องถิ่นเมียนมาอีกด้วย นอกจากนี้ ธนาคารฯ ยังเตรียมดำเนินการจัดอบรมเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ทางด้านการค้าให้กับบุคคลากรของธนาคารท้องถิ่นทั้ง 7 แห่งเพื่อเป็นการปูพื้นฐานในการทำธุรกิจการค้าระหว่างประเทศเพื่อรองรับการมาถึงของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ธนาคารฯ พร้อมยืนยันให้การสนับสนุนใน ทุกด้าน พร้อมทั้งมุ่งมั่นในการให้บริการกับลูกค้าในเมียนมา รวมถึงธนาคารท้องถิ่นในเมียนมา เพื่อความสัมพันธ์ที่ดีในระยะยาวระหว่างธนาคารไทย และเมียนมา