7 หน่วยงาน ลงนาม MOU ใช้ระบบ Fishing Info เชื่อมข้อมูลเรือประมงและแรงงานประมง เพื่อแก้ปัญหา IUU Fishing “ปีติพงศ์” แจงแก้ไอยูยูคืบ

จันทร์ ๑๗ สิงหาคม ๒๐๑๕ ๑๖:๓๖
นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในโอกาสเป็นสักขีพยานพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือการแลกเปลี่ยนเชื่อมโยงข้อมูลเรือประมงและแรงงานประมง ระหว่าง 7 หน่วยงาน ได้แก่ กองทัพเรือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมเจ้าท่า กรมการปกครอง กรมการจัดหางาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และกรมประมง โดยใช้ข้อมูลดังกล่าวผ่านระบบ Fishing Info ฐานข้อมูลกลางในการรับแจ้ง Port in – Port out เรือประมง เป็นการควบคุมให้มีการรายงานการออกไปทำการประมงของเรือประมงเพื่อให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) ว่า การแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายและปัญหาด้านแรงงานประมง ถือเป็นนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ ซึ่งการที่จะขับเคลื่อนแผนการแก้ไขปัญหาดังกล่าวนั้นเป็นเรื่องที่หลายภาคส่วนต้องเข้ามามีบทบาทและร่วมมือกันดำเนินการ เพื่อรักษาความเป็นประเทศที่เป็นแหล่งส่งออกสินค้าประมงอันดับต้นๆ ของโลก สามารถนำเงินตราเข้ามาพัฒนาประเทศได้ปีละกว่าสองแสนล้านบาท ซึ่งเป็นปริมาณถึงร้อยละ 10 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมด้านการเกษตร ที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด คือ การรักษาทรัพยากรประมงอันเป็นสมบัติส่วนรวมของประชาชนทั้งประเทศให้มีใช้อย่างยั่งยืน

ดังนั้น การที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมง ได้พัฒนาระบบฐานข้อมูลกลาง Fishing Info เพื่อเป็นเครื่องมือในการสนับสนุนการดำเนินการตรวจสอบ ควบคุม กำกับดูแลการทำประมง IUU เป็นจุดเริ่มต้นที่จะช่วยให้ทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้องสามารถเชื่อมโยงข้อมูลถึงกันได้ด้วยการทำงานในระบบเดียว ทุกฝ่ายสามารถใช้ในการตรวจสอบการทำประมงที่ผิดกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ด้านนายนายจุมพล สงวนสิน อธิบดีกรมประมง กล่าวเพิ่มเติมว่า ระบบฐานข้อมูล Fishing Info เป็นฐานข้อมูลกลางในการรวบรวมข้อมูลเรือประมง ใบอนุญาตทำการประมง และแรงงานประมง โดย 7หน่วยงานภายใต้ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ได้แก่ กองทัพเรือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมเจ้าท่า กรมการปกครอง กรมการจัดหางาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และกรมประมงจะสามารถตรวจสอบข้อมูลที่จำเป็นในการปฏิบัติงานเพื่อควบคุม กำกับ ดูแล ป้องกันยับยั้งการทำประมงที่ผิดกฎหมายได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งใช้ในการตรวจเรือเข้า-ออกท่าเทียบเรือ และการบูรณาการตรวจร่วมเรือและแรงงานประมงในการตรวจของเรือตรวจการณ์ในทะเล

สำหรับข้อมูลในระบบ Fishing Info สามารถใช้งานได้ในทุกพื้นที่ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับเจ้าหน้าที่ทั้ง 7 หน่วยงาน ซึ่งสามารถเรียกใช้ข้อมูลได้แบบ Real time ผ่าน Desktop PC และ โทรศัพท์มือถือ ทั้งระบบ Android และ IOS โดยข้อมูลในระบบ จะประกอบไปด้วย ข้อมูลทะเบียนเรือ ขนาดเรือ ขนาดเครื่องยนต์ เจ้าของเรือ พร้อมภาพถ่ายเรือ ข้อมูลใบอนุญาตใช้เรือประจำปี ข้อมูลการได้รับอนุญาตทำการประมง ชื่อผู้ขออนุญาตใช้เครื่องมือ ประเภทเครื่องมือพร้อมภาพถ่ายเครื่องมือประมง ข้อมูลการติดตั้งเครื่องมือติดตามตำแหน่งเรือ (Vessel Monitoring System : VMS) ข้อมูลแรงงาน และภาพถ่าย ข้อมูลการตรวจเรือ

ทั้งนี้ ปัจจุบันกรมประมงได้มีการเชื่อมโยงระบบไปยัง ศปมผ. และ ศูนย์ควบคุมเรือประมงเข้า – ออกท่า 28 ศูนย์ ในพื้นที่ 22 จังหวัดชายทะเล ซึ่งสามารถช่วยในการปฏิบัติการตรวจร่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถช่วยให้การดำเนินการแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมายเกิดประสิทธิผล

นายปีติพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมถึงความคืบหน้าในการร่วมบูรณาการแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing)IUU ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความคืบหน้า ดังนี้

1. ด้านกฎหมาย ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุง พ.ร.บ. การประมง 2558 โดยอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฏีกา ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการแก้ไขปัญหาการประมงไอยูยูเท่านั้น แต่ครอบคลุมถึงการทำการประมงของประเทศ

2.. การจัดทำนโยบายต่าง ๆ และแผนการดำเนินการของประเทศ ขณะนี้ได้ดำเนินการแล้วเสร็จไปกว่า 90 % ไม่ว่าจะเป็นแผนปฏิบัติการระดับชาติในการป้องกัน ขจัด และยับยั้งการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (NPAO - IUU) ที่มีสาระครอบคลุมถึงการดำเนินการตามมาตรการที่ไทยเป็นรัฐเจ้าของธง รัฐชายฝั่ง รัฐท่าเรือ และรัฐตลาด

การจัดทำนโยบายหรือแผนการบริหารจัดการทรัพยากรประมงทะเล ( FMP) โดยได้เน้นการบริหารทรัพยากรประมงอย่างเหมาะสม ทั้งการกำหนดจำนวนเรือที่เหมาะสมสำหรับแต่ละกลุ่มสัตว์น้ำสำคัญ กำหนดมาตรการเพื่อลดการทำประมง IUU ทั้งสำหรับเรือประมงในน่านน้ำและนอกน่านน้ำ มาตรการลดความขัดแย้งของชาวประมงพื้นบ้านและพาณิชย์ มาตรการลดการจับสัตว์น้ำวัยอ่อนของปลาเศรษฐกิจ มาตรการฟื้นฟูและรักษาแหล่งอาศัยสัตว์น้ำ ทั้งได้กำหนดแผนการเพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการประมง การควบคุมเฝ้าระวังการทำประมง เป็นการป้องกันการทำประมง IUU ผู้ปฏิบัติการเฝ้าระวังการทำการประมงและหน่วยงานเฉพาะที่ต้องรับผิดชอบในการออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำ การจัดทำแผนควบคุมและตรวจสอบการทำประมง ซึ่งได้ครอบคลุมถึง การเฝ้าระวังก่อนการออกทำการประมง การตรวจตราเรือประมงระหว่างการทำการประมง และการเฝ้าระวังเรือประมงที่ท่าเทียบเรือ การเฝ้าระวังก่อนการออกทำการประมง เรือประมงทุกลำทั้งเรือประมงที่ทำการประมงในน่านน้ำไทย น่านน้ำประเทศเพื่อนบ้าน และน่านน้ำสากล ต้องได้รับอนุญาตทำการประมงตามพื้นที่ที่ทำการประมงอย่างถูกต้อง

ขณะที่การดำเนินการด้านระบบการตรวจสอบย้อนกลับ จากที่ได้มีการปรับปรุง พ.ร.บ. การประมงให้ครอบคลุมการจัดทำระบบ Traceability ตลอดห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่การจับ การนำเข้า การขนถ่าย การแปรรูปในโรงงาน และการส่งออกเพื่อให้สามารถทวนสอบย้อนกลับสินค้าประมงไปยังแหล่งจับได้ นอกจากนี้ยังได้มีการจัดทำคู่มือการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในขั้นตอนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Port State Measure ของด่านนำเข้า Port – in & Port – out ของเรือประมงภายในประเทศ การตรวจประเมินระบบ Traceability ของโรงงาน และการออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำและใบรับรองการแปรรูปสัตว์น้ำ ตลอดจนการจัดฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้มีความรู้ความเข้าใจ และปฏิบัติงานได้ถูกต้องเป็นไปในแนวทางเดียวกัน

ซึ่งจากมาตรการต่างๆ ข้างต้นขณะนี้ผลการดำเนินในด้านการปฏิบัติงานมีความคืบหน้าในหลายๆ ส่วน ทั้งการควบคุม บริหารจัดการจำนวนเรือและเครื่องมือประมง ให้เหมาะสมกับปริมาณสัตว์น้ำที่มีอยู่ โดยการเร่งรัดให้มีการขึ้นทะเบียนและขออนุญาตใช้เรือประมง เครื่องมือทำการประมง และใบอนุญาตต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน/พฤษภาคม ที่ผ่านมาปัจจุบันมีเรือประมงขนาดตั้งแต่ 30 ตันกรอสขึ้นไปเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 5,318 ลำ จากเรือที่อยู่ในข่ายที่ต้องดำเนินการประมาณ 6,000 ลำ

การกำหนดมาตรการติดตาม การควบคุม และเฝ้าระวังการทำประมง (Monitoring Control and Surveillance : MCS) มีการจัดทำแผนการร่วมบูรณาการตรวจร่วมระหว่างกองทัพเรือ (ศรชล.) กองบังคับการตำรวจน้ำ กรมเจ้าท่า กรมประมง เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถตรวจสอบ เฝ้าระวังการทำผิดด้านการประมงได้ครอบคลุมพื้นที่ตลอดฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันมีความก้าวหน้าไปมากคาดว่าจะจัดทำแผนได้แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2558

การติดตั้งอุปกรณ์ติดตามตำแหน่งเรือประมง (Vessel Monitoring System : VMS) เพื่อให้สามารถตรวจสอบ ติดตาม และยืนยันแหล่งที่มาของสัตว์น้ำที่จับได้อย่างถูกต้อง โดยกำหนดให้มีการติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าวในเรือขนาดตั้งแต่ 30 ตันกรอสขึ้นไปและจะเริ่มมีการตรวจสอบในช่วงเดือนกรกฎาคม กันยายน และตุลาคม ตามขนาดและพื้นที่เป้าหมายปลายทางที่ทำการประมงของเรือแต่ละประเภทต่อไป ซึ่งปัจจุบันมีเรือประมงดำเนินการติดตั้ง VMS แล้ว ประมาณ 1,586 ลำ จากเรือที่ต้องดำเนินการ ประมาณ 6,000 ลำ

การพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้าประมง (Traceability) ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางครอบคลุมการทำการประมงโดยเรือไทยที่ทำการประมงในน่านน้ำไทยและน่านน้ำต่างประเทศ ตลอดจนเรือประมงต่างชาติที่เทียบท่าขนถ่ายสัตว์น้ำในประเทศไทย หรือการนำเข้าสัตว์น้ำเพื่อเป็นวัตถุดิบในการแปรรูปเพื่อส่งออก โดยกำหนดให้มีการจัดทำสมุดบันทึกการทำประมง (Fishing logbook) ใบกำกับการซื้อขายสินค้าสัตว์น้ำ (Marine Catch Purchasing Document : MCPD) และใบกำกับการขนถ่ายสัตว์น้ำ (Marine Catch Transship Document : MCTD) ตลอดจนหนังสือกำกับการจำหน่ายวัตถุดิบสัตว์น้ำนำเข้า(Imported?Aquatic Animal Raw Material Movement Document : IMD) การตรวจสอบใบรับรองการจับสัตว์น้ำ (Catch Certificate) และใบรับรองการแปรรูปสัตว์น้ำ (Annex IV) ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณานำเทคโนโลยีสารสนเทศมาสนับสนุนการออกใบอนุญาตทำการประมง การจัดทำสมุดบันทึกการทำประมง ตลอดจนการออกหนังสือรับรองแหล่งจับสัตว์น้ำด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์

พร้อมทั้งยังคงประกาศห้ามทำการประมงโดยเครื่องมือประมง 4 ประเภท ประกอบด้วย โพงพาง อวนรุน (ยกเว้นอวนรุนเคยที่คันรุนไม่ถึงพื้น) อวนล้อมที่มีขนาดช่องตาเล็กกว่า 2.5 เซนติเมตร ที่ทำการประมงเวลากลางคืน ลอบไอ้โง่ ซึ่งหากพบการกระทำผิดจะต้องดำเนินการตามกฎหมาย นอกจากนั้นมีการกำหนดให้ขยายขนาดตาอวนก้นถุงเครื่องมือประมงอวนลากเป็น 5 เซนติเมตร โดยให้เวลาปรับปรุงแก้ไขจนถึงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2558 โดยอาจส่งผลกระทบต่อเรือประมงบ้างแต่ส่วนใหญ่จะเป็นเรือประมงเชิงพาณิชย์สำหรับเรือประมงที่ผิดกฎหมายหรือสำรวจไม่พบจะมีการดำเนินการลบข้อมูลจากระบบ ซึ่งหากตรวจพบเรือดังกล่าวทำการประมงจะถูกดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

“รัฐบาลอยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางการบริหารจัดการ ควบคุมการทำประมง อาทิ การกำหนดเขตการทำประมงร่วมกับมาตรการอื่นๆ เป็นการลดจำนวนเรือและเครื่องมือประมง การกำหนดระยะเวลาการอนุญาตทำประมง ฯลฯ เพิ่มเติม ซึ่งจะมีการพิจารณาทุกปีเพื่อให้จับสัตว์น้ำไปใช้ประโยชน์ได้สูงสุดได้อย่างยั่งยืนตามหลักวิชาการที่เป็นที่ยอมรับของสากล พร้อมกันนั้นรัฐได้พยายามเร่งพิจารณาแนวทางให้ความช่วยเหลือชดเชยแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรมโดยเร่งด่วนต่อไป” นายปีติพงศ์ กล่าว

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version