นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงานการประชุมเพื่อความมั่นคงด้านวัคซีนในอาเซียน “Follow-up workshop on Collaborative Models for the Effective Communication and Coordination among ASEAN Countries for Regional Vaccine Security” ระหว่างวันที่ 17-18 สิงหาคม 2558 จัดขึ้น ณ โรงแรมรามาดา พลาซ่า บางกอก แม่น้ำ ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ ว่าในปี พ.ศ. 2558นี้ได้เกิดความร่วมมือที่สำคัญขึ้นภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน”หรือ “AEC”เพื่อมุ่งให้อาเซียนเป็นตลาดเดียวและเป็นฐานการผลิตร่วมกันมีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน และแรงงานฝีมือรวมทั้งเงินลงทุนที่เสรีขึ้น การรวมตัวกันของประชาคมอาเซียนจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มอำนาจในการต่อรอง รวมถึงเป็นการขยายตลาดอาเซียนที่มีประชากรรวมกันมากกว่า 600 ล้านคน
ทั้งนี้หากประเทศสมาชิกในภูมิภาคร่วมมือกันจนสามารถผลักดันเรื่องความมั่นคงด้านวัคซีนให้เป็น“วาระของอาเซียน”(ASEAN agenda)ได้ จะช่วยทำให้การวิจัยพัฒนาและผลิตวัคซีนของประเทศต่าง ๆ มีความเป็นไปได้มากยิ่งขึ้น เพราะการขยายกลุ่มเป้าหมายผู้ใช้วัคซีนจากระดับประเทศเป็นระดับภูมิภาคจะทำให้การลงทุนมีความคุ้มทุนในเชิงธุรกิจมากขึ้น ประเทศไทยและประเทศอื่นๆที่มีศักยภาพจะก้าวสู่การเป็นกลุ่มประเทศผู้นำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพในภูมิภาคนี้มีการตกลงร่วมกันในระดับภูมิภาคอาจเพื่อวางแผนในการแบ่งหรือร่วมกันวิจัยพัฒนาและผลิตวัคซีนชนิดใหม่ตามศักยภาพของแต่ละประเทศ การจัดการด้านการสนับสนุนวัคซีนในภูมิภาค การร่วมกันพัฒนาและแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีการพัฒนาและการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาบุคลากร การควบคุมกำกับคุณภาพวัคซีนจะไม่มีการแข่งขันกันเอง
การที่ประเทศไทยยังได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมเพื่อความมั่นคงด้านวัคซีนในอาเซียนครั้งนี้ เนื่องจากไทยมีศักยภาพในการบริหารจัดการเพื่อสร้างความมั่งคงด้านวัคซีนให้ภูมิภาคนี้โดยมีสถาบันวัคซีนเป็นตัวกลางประสานดำเนินการ จึงเป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะได้เร่งรัดสร้างความเข้มแข็งในการวิจัยพัฒนาและผลิตวัคซีนภายในประเทศตามมาตรฐานสากล และสร้างความร่วมมือกับประเทศสมาชิกในประชาคมอาเซียน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยพัฒนาและผลิตวัคซีนในภูมิภาค โดยการจัดประชุมครั้งนี้มีผู้เกี่ยวข้องทั้งระดับผู้บริหารจากภาครัฐและภาคเอกชน ของประเทศสมาชิกต่างๆในภูมิภาคอาเซียน จำนวน8 ประเทศ เข้าร่วมประชุม ได้แก่ พม่า ลาว กัมพูชา เวียตนาม ฟิลิปปินส์ มาเลย์เซีย อินโดนีเซีย และประเทศไทย
ด้านดร.นพ.จรุง เมืองชนะ ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติกล่าวว่าการจัดประชุมเพื่อความมั่นคงด้านวัคซีนในอาเซียนครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งต่อยอดมาจากการประชุมครั้งที่ 1 ที่ จ.ภูเก็ต เมื่อปี2557ที่ผ่านมาซึ่งที่ประชุมเห็นพ้องต้องกันและเสนอให้แต่ละประเทศพัฒนาความร่วมมือใน 4 ด้านได้แก่1.การบริหารจัดการด้านวัคซีนอย่างเป็นระบบตั้งแต่การวิจัย พัฒนา การผลิต การควบคุมคุณภาพ และการใช้วัคซีนสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค 2.การพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านวัคซีนอย่างเป็นระบบ 3.การกำหนดนโยบายด้านราคาในการจัดซื้อวัคซีนและความพยายามต่อรองราคาวัคซีนให้ได้ในราคาถูก และ4.การสื่อสารและการประสานงานเพื่อทำความเข้าใจกับสังคมในกลุ่มคนภูมิภาคอาเซียนให้เห็นความสำคัญของความมั่นคงด้านวัคซีนและความสำคัญของการใช้วัคซีนในการควบคุมป้องกันโรค
โดยการประชุมความมั่นคงด้านวัคซีนอาเซียนครั้งที่ 2 นี้ได้ชูประเด็นความร่วมมือด้าน “การสื่อสารและการประสานงาน”เป็นหัวข้อหลักของการประชุมเนื่องจากประสบการณ์จากการประชุมในครั้งที่ผ่านมาพบว่ายังมีปัญหาความเข้าใจ ของผู้บริหาร หน่วยงาน บุคลลากรด้านวัคซีนในระดับต่างๆ ที่มีความเข้าใจในงานด้านวัคซีนแตกต่างกันหลายประเทศที่เป็นผู้ผลิตวัคซีนในภูมิภาคอาเซียนยังเป็นไปในลักษณะต่างคนต่างทำ ครั้งนี้จึงมุ่งเน้นการสร้างความเข้าใจและการประสานงานร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก เพื่อการจัดทำร่างแผนการประชาสัมพันธ์และการสื่อสารเชิงนโยบายเพื่อให้ความเข้าใจในงานด้านวัคซีนของอาเซียนเดินหน้าไปในทิศทางเดียวกัน ให้ประเทศสมาชิกในประชาคมอาเซียน (ASEAN countries) มีแนวทางปฏิบัติเพื่อความร่วมมือด้านวัคซีนในระดับภูมิภาคร่วมกันอย่างชัดเจนเป็นไปตามแนวทางที่องค์การอนามัยโลกให้การสนับสนุน โดยไม่เน้นในเรื่องการแข่งขันแต่เน้นส่งเสริมให้ทุกประเทศในภูมิภาคอาเซียนมีศักยภาพในการผลิตวัคซีนและสามารถเกื้อกูลกันได้เมื่อยามเกิดภาวะโรคระบาด อันจะนำไปสู่การส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความมั่นคงด้านวัคซีนและการพึ่งพาตนเองของภูมิภาคอาเซียนทั้งในภาวะปกติและภาวะฉุกเฉิน
การประชุมในครั้งนี้นอกจากจะมุ่งเน้นการสร้างความร่วมมือระดับประเทศในภูมิภาคอาเซียนแล้ว ยังได้มีการเชิญนักวิชาการ ผู้ที่มีความเป็นเลิศด้านวัคซีนในแขนงต่างๆ มาเป็นที่ปรึกษาในการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อให้สามารถนำเอาทฤษฎีที่เป็นที่ยอมรับมาปรับใช้และพัฒนาเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับระบบวัคซีนของแต่ละประเทศด้วยโดยทางสถาบันฯจะนำเอาผลสรุปจากการประชุมทั้ง 2 ครั้งไปนำเสนอต่อที่ประชุมที่ประเทศเวียดนามในปีนี้ และนำเสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนที่ประเทศบรูไนในปี 2559 ต่อไป