วิศวฯ จุฬาฯ ชี้ถึงเวลาที่ไทยต้องกำหนดแนวทางการสร้างความมั่นคงและความสมดุลย์ทางพลังงาน

อังคาร ๑๘ สิงหาคม ๒๐๑๕ ๑๓:๒๔
วิศวฯ จุฬาฯ ชี้ถึงเวลาที่ไทยต้องกำหนดแนวทางการสร้างความมั่นคงและความสมดุลย์ทางพลังงาน และพร้อมวางดลยุทธ์ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ - เน้นสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชนถึงแหล่งที่มาพลังงานและเตรียมแผนการจัดการที่ดี เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมของประเทศ

รศ. ภิญโญ มีชำนะ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แนะเมืองไทยควรต้องกำหนดแนวทางในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานอย่างจริงจัง และควรเดินหน้าสร้างสมดุลย์ในการใช้พลังงาน และที่สำคัญที่สุดคือต้องสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ประชาชนถึงข้อดีข้อเสียของแหล่งที่มาเพื่อการผลิตพลังงาน มั่นใจหากจัดการอย่างถูกต้องประชาชนจะได้รับประโยชน์อย่างเต็มร้อย “การที่ประเทศหนึ่งประเทศใดเลือกเชื้อเพลิงชนิดใดและโรงไฟฟ้าแบบไหนจะมีเหตุและปัจจัยแวดล้อมทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และความจำเป็นของแต่ละประเทศที่แตกต่างกันมาเป็นองค์ประกอบในการตัดสินใจเสมอ เพื่อให้ได้ “ค่าไฟฟ้า” ที่คนส่วนใหญ่ในประเทศยอมรับได้ ประเทศไทยเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาและพึ่งพารายได้หลักจากอุตสาหกรรมการบริการ และเกษตรกรรมเป็นหลัก โดยเศรษฐกิจของประเทศต้องพึ่งพาการส่งออกถึง 70% ของรายได้ประชาชาติ ดังนั้น ประเทศไทยต้องการไฟฟ้าในราคาที่ถูกพอที่จะแข่งขันกับประเทศคู่แข่งทางการค้าของประเทศไทยได้ และประชาชนภาคครัวเรือนได้ใช้ไฟฟ้าในราคาที่เหมาะสมกับรายได้ของประชาชน โดยเฉพาะประชาชนที่มีรายได้น้อยจะต้องไม่เดือดร้อน”

ทั้งนี้ ทุกประเทศต่างทราบดีว่าการเลือกใช้เชื้อเพลิงชนิดใดหรือโรงไฟฟ้าแบบไหนนั้นย่อมมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าชนิดใดก็ตาม ต่างก็มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้นแต่จะมีมากน้อยต่างกันไป “เป็นที่ทราบโดยทั่วไปว่า โรงไฟฟ้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่ามักจะทำให้ค่าไฟฟ้ามีราคาที่แพงมากกว่าโรงไฟฟ้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่มากกว่า กรณีของประเทศไทยนั้นการเลือกใช้เชื้อเพลิงชนิดใดหรือโรงไฟฟ้าแบบไหนนั้นควรคำนึงว่าผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นนั้นควรอยู่ในเกณฑ์ที่สังคมยอมรับได้ โดยไม่เกิดอันตรายต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชาชนโดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงกับโรงไฟฟ้า นั่นคือการปลดปล่อยของเสียหรือสิ่งที่อาจจะเป็นอันตรายจะต้องไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานที่กฎหมายกำหนด นอกจากนั้นแล้ว ประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้โรงไฟฟ้า ซึ่งอาจจะมีโอกาสได้รับผลกระทบที่มากกว่าประชาชนส่วนอื่นๆ ควรได้รับการชดเชย (เช่นกองทุนรอบโรงไฟฟ้า) โดยการชดเชยนี้ควรคิดจากประชาชนที่มีโอกาสได้รับผลกระทบที่น้อยกว่า (หรือไม่ได้รับผลกระทบ) ด้วยการจ่ายค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจากปกติ (ค่า FT ที่ส่งไปให้กองทุนรอบโรงไฟฟ้า) การชดเชยนี้ควรเหมาะสมเป็นที่ยอมรับของทั้งประชาชนที่อาศัยอยู่รอบโรงไฟฟ้า (ที่มีโอกาสได้รับผลกระทบ) และประชาชนทั่วไปที่ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น”

เกี่ยวกับแนวทางในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของไทยนั้น รศ. ภิญโญ มีชำนะ กล่าวแสดงความเห็นต่อประเด็นดังกล่าวว่า การที่ประเทศไทยพึ่งพาก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนที่สูงถึง 70% ส่งผลให้เกิดความไม่มั่นคง (ความเสี่ยง) ในการผลิตไฟฟ้ามากขึ้น จะเห็นได้ว่าทุกๆครั้งที่มีการหยุดซ่อมระบบผลิตและส่งก๊าซธรรมชาติมักจะกระทบต่อการผลิตไฟฟ้าเนื่องจากการซ่อมแซมทุกครั้งกำลังไฟฟ้าจะหายไปจากระบบเป็นจำนวนมากจะต้องผลิตไฟฟ้าจากแหล่งไฟฟ้าสำรองเสริมเข้ามาเพื่อให้ประชาชนมีไฟฟ้าใช้ตามความต้องการอย่างพอเพียง ดังนั้นจึงควรพิจารณาสร้างโรงไฟฟ้าฐานหรือโรงไฟฟ้าหลัก เช่น โรงไฟฟ้านิวเคลียร์หรือโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพิ่มเข้าไปในระบบการผลิตไฟฟ้าของประเทศ เพื่อเพิ่มความมั่นคง (หรือลดความเสี่ยง) ในการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ทั้งนี้ การใช้ก๊าซธรรมชาติเพิ่มมากขึ้นกระทั่งสูงถึง 70% ในปัจจุบันนั้นทำให้ปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งคาดว่าถ้าหากไม่สามารถค้นหาแหล่งก๊าซสำรองเพิ่มเติมจากปัจจุบัน ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยอาจจะถูกใช้หมดภายใน 7-8 ปีจากนี้

ปัจจุบัน เทคโนโลยีในการผลิตไฟฟ้ามีหลายแบบและใช้เชื้อเพลิงชนิดต่างๆ เช่น โรงไฟฟ้าฐาน หรือโรงไฟฟ้าหลัก มักใช้แหล่งพลังงานที่ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยถูกราคาพลังงานเสถียร มั่นคง จัดหาได้ง่าย และผลิตได้สม่ำเสมอ เช่น ถ่านหิน นิวเคลียร์ และก๊าซธรรมชาติ หรือผสมผสานกัน โรงไฟฟ้าเสริม ควรใช้ ก๊าซ น้ำมัน เขื่อน ชีวมวล ลม หรือแสงอาทิตย์ เป็นแหล่งพลังงาน ดังนั้น การพิจารณาเลือกเทคโนโลยีสำหรับโรงไฟฟ้าจึงควรพิจารณาถึงข้อเด่นและข้อด้อยของแหล่งพลังงานที่นำมาใช้

ทั้งนี้ เทคโนโลยีที่น่าทำความเข้าใจคือเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดที่ใช้ในโรงไฟฟ้า โดยทั่วไปมี 3 แบบ คือ 1.Fluidized Bed Coal-Fired Power Plant เป็นโรงไฟฟ้าที่กำลังการผลิตไม่สูงมากนัก ใช้ถ่านหินเม็ดเล็กเป็นเชื้อเพลิง เหมาะกับโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้ไฟฟ้าและไอน้ำในกระบวนการผลิต 2.Pulverized Coal-Fired Power Plantเหมาะสำหรับโรงไฟฟ้าที่กำลังการผลิตสูง ใช้ถ่านหินบดละเอียดเป็นเชื้อเพลิง เหมาะกับการผลิตไฟฟ้าเข้าระบบ และ 3.Integrated Gasification Combined Cycle Power Plant เป็นโรงไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูง ปล่อยมลภาวะต่ำ แต่ยังอยู่ในขั้นตอนการวิจัยและพัฒนา

“เทคโนโลยีถ่านหินสะอาดนั้น ต้องพัฒนาให้โรงไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพให้สูงขึ้น กล่าวโดยสรุปก็คือ ถ้าสามารถผลิตไฟฟ้าออกมาเท่าๆ กันโรงไฟฟ้าใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นกว่าเดิมจะใช้ถ่านหินน้อยลง และเกิดมลภาวะน้อยกว่าโรงไฟฟ้าเก่าที่มีประสิทธิภาพต่ำกว่า นอกจากนี้ ยังต้องมีการพัฒนาเครื่องบำบัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์(SOx) ให้มีประสิทธิภาพในการบำบัดให้สูงขึ้น เพื่อลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์สู่บรรยากาศโดยรวมลดลง รวมถึงต้องพัฒนาเครื่อง(ระบบ)บำบัดก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ให้มีประสิทธิภาพให้สูงขึ้นเช่นกัน ตลอดจนระบบกำจัดฝุ่นของโรงไฟฟ้าต้องถูกพัฒนาให้มีประสิทธิภาพของการบำบัดที่สูงขึ้นเพื่อลดการปล่อยฝุ่นสู่บรรยากาศ และสุดท้ายการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการเพิ่มประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าก็เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องคำนึงเช่นกัน” รศ. ภิญโญ มีชำนะ กล่าวสรุป

ในขณะที่ รศ. ดร. สุธา ขาวเธียร อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงแนวทางการจัดการกากของเสียที่เกิดจากเทคโนโลยีในการผลิตไฟฟ้าว่า การใช้งานถ่านหินในประเทศไทยส่วนใหญ่นำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมผลิตกระแสไฟฟ้า อุตสาหกรรมผลิตซีเมนต์ เป็นต้น ซึ่งถ่านหินเป็นที่นิยม เนื่องจากมีต้นทุนต่ำกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่น โดยแหล่งถ่านหินที่นำมาใช้ในอุตสาหกรรมนั้นมีทั้งในและต่างประเทศ เช่น แหล่งถ่านหินแม่เมาะ ที่มีลิกไนต์อยู่เป็นจำนวนมาก และแหล่งถ่านหินจากต่างประเทศ เช่น ซับบิทูมินัส และบิทูมินัสจากประเทศอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และอื่นๆ ที่มีคุณภาพดีกว่าและมีมลพิษที่น้อยกว่าลิกไนต์ในบ้านเรา โดยถ่านหินจากต่างประเทศใช้การขนส่งทางเรือขนาดใหญ่เป็นหลัก ผ่านเส้นทางเดินเรือในมหาสมุทร เข้ามาท่าเทียบเรือของโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ตั้งอยู่ติดทะเล หรือท่าเทียบเรือน้ำลึกต่าง ๆ หลังจากนั้นจะมีการลำเลียงต่อโดยเรือขนส่งขนาดกลางและเล็ก มาตามลำน้ำเจ้าพระยาและมาขึ้นที่ท่าเรือต่าง ๆ ต่อจากนั้นจะลำเลียงโดยเส้นทางทางบกเพื่อขนส่งถ่านหินไปสู่โรงงานอุตสาหกรรม โดยกระบวนการเผาถ่านหินเพื่อนำไปใช้ประโยชน์จะก่อให้เกิดมลพิษ เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ และฝุ่นละออง เป็นต้น นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดของเสียจำพวกเถ้าถ่านหิน ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ เถ้าลอย และเถ้าหนัก โดยสัดส่วนเถ้าลอยต่อเถ้าหนักเป็น 9:1 โดยน้ำหนัก เถ้าถ่านหินมีองค์ประกอบหลัก คือ ซิลิก้า (Silica) อลูมิน่า (Alumina) และเหล็กออกไซด์ (Ferric oxide) และอาจมีโลหะหนักปนเปื้อนอยู่ เช่น สารหนู ตะกั่ว สังกะสี เป็นต้น

“เนื่องจากเถ้าถ่านหินจัดเป็นของเสียอุตสาหกรรม ซึ่งอยู่ในหมวดรหัสของเสีย 10 01 (ของเสียจากการผลิตไฟฟ้าและโรงงานที่มีกระบวนการเผาไหม้) ทั้งในรูปแบบของของเสียที่ไม่เป็นอันตราย และของเสียที่เป็นอันตรายประเภท HM การนำเถ้าถ่านหินออกจากโรงงานอุตสาหกรรมจึงต้องรายงานปริมาณ และวิธีการนำไปกำจัดต่อกรมโรงงานอุตสาหกรรม ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องการกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ.2548 โดยส่วนใหญ่แล้ววิธีการกำจัดเถ้าถ่านหินคือการนำไปฝังกลบอย่างถูกหลักวิชาการ โดยถ้ามีปริมาณเถ้าถ่านหินมากขึ้น ก็จะยิ่งต้องดำเนินการกำจัดเถ้าถ่านหินมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นในปัจจุบันจึงเริ่มมีกระบวนการในการนำเถ้าถ่านหินกลับมาใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การนำเอาเถ้าถ่านหินมาเป็นส่วนประกอบของอิฐมวลเบา การนำเถ้าถ่านหินไปใช้เป็นส่วนประกอบของคอนกรีต เป็นต้น ซึ่งการนำเถ้าถ่านหินกลับมาใช้ประโยชน์เป็นการลดภาระให้กับสิ่งแวดล้อม และเป็นการลดปริมาตรของหลุมฝังกลบ รวมถึงลดภาระการกำจัดของเสียขั้นสุดท้ายด้วย” รศ. ดร. สุธา ขาวเธียร กล่าว

ด้าน รศ. ดร.ศิริมา ปัญญาเมธีกุล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ชี้แจงเกี่ยวกับการจัดการด้านมลพิษทางอากาศที่เกิดจากเทคโนโลยีในการผลิตไฟฟ้าว่า การจัดกลุ่มของโรงไฟฟ้าด้วยเรื่องของเชื้อเพลิงนั้น แบ่งได้ 2 ประเภท คือ 1. โรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิง คือ เชื้อเพลิงฟอสซิล (น้ำมันดิบ ถ่านหิน หรือก๊าซธรรมชาติ) หรือ เชื้อเพลิงจากมวลชีวภาพ และ 2. โรงไฟฟ้าที่ไม่ใช้เชื้อเพลิง คือการใช้พลังงานหมุนเวียน (พลังงานน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานความร้อนใต้พิภพ พลังงานคลื่น) ในการผลิตกระแสไฟฟ้านั่นเอง ปัจจุบันสัดส่วนพลังงานในการผลิตกระแสไฟฟ้าในประเทศไทยร้อยละ 71 เป็นก๊าซธรรมชาติ ถัดมาเป็นถ่านหิน ร้อยละ 19 อีกร้อยละ 6 เป็นพลังงานน้ำ และใช้พลังงานทดแทนร้อยละ 3 ที่เหลือประมาณร้อยละ 1 เป็นการใช้เชื้อเพลิงประเภทน้ำมันเตา น้ำมันดีเซล และเชื้อเพลิงนำเข้าจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตามเราคงต้องตระหนักว่าตราบใดที่ไฟฟ้าเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันแล้ว ไม่ว่าจะทำการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าประเภทใด (ใช้เชื้อเพลิง หรือไม่ใช้เชื้อเพลิง) มีข้อดีและข้อด้อยเกิดขึ้นทั้งสิ้น

แม้ว่าการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าจะก่อให้เกิดมลพิษน้อยกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลอื่นๆ แต่การเผาไหม้ก๊าซธรรมชาติก็ยังก่อให้เกิดปรากฏการณ์ก๊าซเรือนกระจก การใช้ถ่านหินซึ่งมีปริมาณสำรองจำนวนมากและราคาถูก แต่โรงไฟฟ้าถ่านหินกลับเป็นทางเลือกที่ถูกสะท้อนข้อเสียมากกว่าข้อดี สำหรับแนวทางการจัดการมลพิษทางอากาศจากโรงไฟฟ้า(ถ่านหิน) จึงควรเริ่มจาก 1. การใช้เชื้อเพลิงคุณภาพสูง 2. การใช้กระบวนการผลิตไฟฟ้าแบบเผาไหม้สมบูรณ์ 3. การติดตั้งและเปิดอุปกรณ์ระบบควบคุมมลพิษต่างๆ เช่นระบบบำบัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ระบบบำบัดก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ ระบบกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงระบบดักจับฝุ่นละอองและเถ้าที่เกิดจากการเผาไหม้ 4. การจัดการผลพลอยได้ที่เกิดขึ้นจากระบบบำบัดอย่างเหมาะสม และ 5. การตรวจติดตาม เฝ้าระวังพารามิเตอร์ต่างๆ ที่ผ่านระบบบำบัดแล้ว โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งทั้งหมดเป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลเพื่อความปลอดภัยของชุมชนรอบโรงไฟฟ้า

“แนวทางที่กล่าวข้างต้นพิจารณาในมิติของการใช้เทคโนโลยีเพื่อควบคุมมลพิษเท่านั้น แต่การสร้างความมั่นคงและสมดุลทางพลังงานในการผลิตไฟฟ้ารวมทั้งคำนึงถึงปัจจัยสิ่งแวดล้อมนั้น ผู้บริหารประเทศต้องกำหนดยุทธศาสตร์พลังงาน โดยการมีทางเลือกด้านพลังงาน (ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ) ในการผลิตไฟฟ้าซึ่งแสดงข้อดีและข้อเสียแยกตามประเด็นต่างๆ ได้แก่ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านเทคโนโลยี ด้านความมั่นคง ด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านกฎหมายและการบังคับใช้ ซึ่งจะทำให้ประชาชนเข้าใจและยอมรับกับภาระค่าไฟที่ต้องเกิดขึ้นกับทางเลือกนั้นๆ ในท้ายที่สุด” รศ. ดร.ศิริมา ปัญญาเมธีกุล กล่าวทิ้งท้ายเพื่อเป็นแนวทางให้หน่วยงานภาครัฐนำไปประกอบการพิจารณาและกำหนดยุทธศาสตร์พลังงานของไทยในอนาคต

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๙:๐๐ รำไพพรรณีจับมือโรงเรียนในจันทบุรี พัฒนาทักษะภาษา สู่ความเป็นเลิศ
๐๙:๐๐ DITP แถลงข่าวตอกย้ำความสำเร็จ E-Academy ภายใต้แนวคิด Beyond Boundaries Transform Knowledge into Impact
๐๙:๐๐ เปิดให้จองแล้ว Samsung Galaxy S25 Series ผู้ช่วยส่วนตัวคนใหม่ของคนไทย พร้อมรับสิทธิพิเศษมากมาย
๐๙:๐๐ ศูนย์หนังสือจุฬาฯ เชิญร่วมงานเสวนา โปรตุเกส.เหตุที่รั
๐๙:๐๐ การเคหะแห่งชาติจับมือ 3 หน่วยงาน พัฒนาศักยภาพเพิ่มทักษะชาวชุมชนหวังสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี
๐๙:๐๐ ก้อย-นัตตี้-ดรีม ชีเสิร์ฟความฮอตแบบไม่พัก รับบทพรีเซ็นเตอร์ชุดชั้นในวาโก้ โชว์ความเนียนยืนหนึ่งระดับตัวมัม!
๐๙:๐๐ เจาะลึกคีย์เทคโนโลยี AI ฝีมือคนไทย บนแอปสินเชื่อ มันนี่ทันเดอร์ พลังขับเคลื่อนสำคัญที่ อบาคัส ดิจิทัล
๐๘:๑๓ เปิดความปัง มั่งมีรับปีใหม่ กับ แมคโดนัลด์ 'มั่งมีเบอร์เกอร์ x MY MELODY' ยกขบวนความน่ารัก MY MELODY กับแพ็กเกจจิงและ กระเป๋า Tote Bag
๐๘:๑๑ ถอดรหัสความสำเร็จ Fundao แบรนด์กระเป๋าไทยของผู้หญิงยุคใหม่ กับสถิติยอดขายช่วงแคมเปญเพิ่มขึ้นกว่าปกติถึง
๐๘:๐๐ เปลี่ยนธุรกิจคุณให้โตคูณร้อย กับหลักสูตร CMF เปิดรับสมัครรุ่นที่ 21 แล้ววันนี้ !!