นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การดำเนินงานตามพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ณ โรงแรมปริ๊นซ์พาเลช มหานาค กรุงเทพ ว่า พระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558 ได้ตราขึ้นเป็นกฎหมายเพื่อให้หน่วยงานภาครัฐมีการกำหนดขั้นตอนและระยะเวลาการดำเนินงานในการพิจารณาอนุญาตที่เป็นมาตรฐาน ซึ่งรวมถึงการออกใบอนุญาต การอนุมัติ การจดทะเบียน การขึ้นทะเบียน การรับแจ้ง การให้ประทานบัตร และการให้อาชญาบัตร ซึ่งพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2558 และจะมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วัน นับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา (21 กรกฎาคม 2558)
นายชวลิต กล่าวต่อไปว่า ในระยะเริ่มต้นหลังการประกาศพระราชบัญญัติฯ สำนักงาน ก.พ.ร. ได้นำร่องดำเนินการใน 21 ส่วนราชการ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ โดยกรมประมง เป็นหนึ่งในหน่วยงานนำร่องดังกล่าว และจากการวิเคราะห์บทบาทภารกิจของส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ พบว่า มีงานบริการที่เข้าข่ายพระราชบัญญัติดังกล่าว 11 ส่วนราชการ จำนวน 309 งานบริการ อาทิ การออกหนังสือรับรองการส่งออกกุ้งกุลาดำมีชีวิตออกไปนอกราชอาณาจักร การออกใบอนุญาตผลิตวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 การรับจดทะเบียนสหกรณ์ เป็นต้น โดยมีการจัดทำคู่มือสำหรับประชาชนผ่านระบบสารสนเทศ เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับทราบและใช้ประโยชน์ตามกรอบเวลาที่พระราชบัญญัติกำหนด
ขณะนี้พระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558 ได้มีผลบังคับใช้แล้ว ซึ่งก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ ส่วนราชการที่พบปัญหาอุปสรรคในการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการดำเนินงาน ได้ปรึกษาหารือกับสำนักงาน ก.พ.ร. มาโดยตลอด ดังนั้น การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ จะเป็นการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติดังกล่าว เพื่อให้สามารถปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพและบรรลุผลตามเจตนารมณ์ที่ตั้งไว้ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย ผู้บริหารส่วนราชการ เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบงานบริการ เจ้าหน้าที่ด้านกฎหมายและด้านพัฒนาระบบราชการ ประมาณ 150 คน
“งานบริการด้านการเกษตรเปรียบเสมือนเครื่องจักรตัวแรกในระบบการผลิต ที่จะส่งผลผลิตต่อไปยังภาคอุตสาหกรรม รวมไปถึงภาคการค้าการส่งออก ดังนั้น การสร้างมาตรฐานการให้บริการด้านการเกษตรที่มีความสะดวก รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ จะช่วยเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะผลที่มีต่อการดำเนินงานของภาคเอกชนที่เป็นกำลังหลักของระบบธุรกิจไทย ดังนั้น ทุกส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ จะต้องให้ความสำคัญกับมาตรฐานการให้บริการงานภาคการเกษตร โดยเฉพาะการบริการในระดับพื้นที่ที่ต้องทำหน้าที่ให้บริการเกษตรกรและประชาชนโดยตรง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและแสดงถึงความโปร่งใสตรวจสอบได้ในระบบราชการ และเป็นธรรมกับทุกภาคส่วน ซึ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกคนต้องศึกษาให้เข้าใจ และปฏิบัติให้ถูกต้อง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบทั้งต่อตนเอง องค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้รับบริการ” นายชวลิต กล่าว