นางไอรดา เหลืองวิไล รองผู้อำนวยการ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลได้ดำเนินนโยบาย Thailand Gateway ที่จะเชื่อมการทำงานด้วยการใช้อินเทอร์เน็ต โดยจะมีส่วนของเครือข่ายระหว่างหน่วยงานรัฐมาช่วยเพื่อให้เข้าถึงประชาชนและภาคธุรกิจ EGA จึงได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ โดยศูนย์สารสนเทศการวิจัย นำข้อมูลการวิจัยมาใช้ระบบบริการโครงสร้างพื้นฐานของ EGA ไม่ว่าจะผ่านเครือข่าย GIN หรือ Government Information Network และบริการคลาวด์ภาครัฐ หรือ G-Cloud เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ามาสืบค้นงานวิจัยได้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ระบบของศูนย์สารสนเทศการวิจัยที่จะเข้ามาใช้บริการโครงสร้างพื้นฐานของ EGA เพื่อเข้าสู่ Thailand Gateway จะประกอบด้วย DRIC- Digital Research Information Center (dric.nrct.go.th) ซึ่งปัจจุบันเป็นแหล่งรวบรวมงานวิจัยในแบบดิจิตอล มีการให้บริการดาวน์โหลดบทคัดย่อและเอกสารฉบับเต็ม เพื่อใช้งานในด้านการศึกษาแสวงหาความรู้และเพื่อการวิจัย แต่ไม่อนุญาตให้นำไปใช้ประโยชน์ด้านการค้า, RIR- Research Information Repository (rir.nrct.go.th) ซึ่งเป็นเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ที่จะรายงานสภาพของนักวิจัย และการนำงานวิจัยไปใช้ในแง่ต่างๆ
DOI- NRCT Local Handle System (doi.nrct.go.th) ซึ่งเป็นการใช้รหัสตัวระบุวัตถุดิจิตอล (ดีโอไอ) กับงานวิจัยและงานวิชาการระดับอุดมศึกษา เป็นที่รับลงทะเบียนแห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศไทยเพื่อพัฒนาขีดความสามารถด้านการบริหารจัดการข้อมูลงานวิจัยและส่งเสริมและพัฒนาระบบวิจัยของประเทศไทยด้วย ตัวระบุวัตถุดิจิตอล (ดีโอไอ) คือ เลขมาตรฐานสากลประจำไฟล์ดิจิตอลที่เผยแพร่ บนอินเทอร์เน็ตใช้ในการระบุตัวตน, TNRR- Thai National Research Repository (tnrr.in.th) ซึ่งเป็นระบบคลังข้อมูลงานวิจัยไทย ที่มีระบบฐานข้อมูลการวิจัยในระบบดิจิตอลที่มีความทันสมัยที่สุดในปัจจุบัน และ EXPLORE- Extraordinary Simple Public Library of research result (thai-explore.net) หรือห้องสมุดงานวิจัยสาธารณะ ที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าไปค้นหางานวิจัยที่เปิดเผยได้
ซึ่งที่ผ่านมา ระบบทั้ง 5 จะอยู่แยกกัน มีทั้งระบบที่ให้บริการโดยตรงกับนักวิจัย กับระบบที่แยกให้บริการกับประชาชนทั่วไป แต่หลังจากเข้าโครงการ Thailand Gateway แล้ว ทาง EGA จะนำระบบทั้งหมดมาบริหารจัดการด้านโครงสร้างพื้นฐานใหม่ ทั้งในส่วนของฮาร์ดแวร์ เครือข่าย ระบบฐานข้อมูลและอื่นๆ ทำให้ระบบทั้งหมดเชื่อมโยงข้อมูลถึงกัน ทั้งยังทำงานผ่านระบบ Cloud Computing ซึ่งจะทำให้ภาครัฐ นักวิจัย และประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงระบบทั้ง 5 ได้ผ่านจุดเพียงจุดเดียว เป็น R&D e-government Gateway ตามที่ศูนย์สารสนเทศการวิจัย (ศสจ.) ของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติต้องการ
“ในระบบ R&D E-government Gateway ยุคใหม่ เพียงเข้าไปยังจุดที่กำหนด จะพบกับระบบสืบค้นแบบ One Search เช่น เพิ่มคำว่า ข้าว ระบบก็จะทำการค้นหาจากเครื่องแม่ข่ายของทั้ง 5 ระบบมาแสดงผลลัพธ์ที่ได้ในคราวเดียวกัน ระบบ R&D E-Government Gateway จะถูกพัฒนาเพื่อเป็นระบบเว็บท่า (Web Portal) จึงไม่มีการจัดเก็บข้อมูล Metadata ไว้ที่ตัวระบบแต่จะเป็นการพัฒนาระบบการเชื่อมต่อแบบ API โดยทุกครั้งที่มีการค้นหาระบบจะทำการส่งคำสั่งการค้นหาไปยังระบบต้นทางโดยตรงและดึงข้อมูลมาแสดงผลบน Gateway ทันที นอกจากนั้นระบบจะนำผลลัพธ์จากการค้นหาที่ได้ทั้งหมดมาทำการวิเคราะห์และแสดงผลการค้นหาในรูปแบบของ Dashboard เพื่อให้เห็นถึงการเปรียบเทียบเชิงปริมาณ ในมิติต่างๆ ทำให้ผู้ใช้สามารถใช้ประโยชน์จากผลลัพธ์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ” ไอรดากล่าว
โครงการนี้ถือเป็นต้นแบบในการเผยแพร่ข้อมูลและการเชื่อมโยงข้อมูลในรูปแบบ Open Government Data โดยใช้มาตรฐาน RDF ซึ่งในอนาคตทาง EGA จะมีการนำระบบของภาครัฐเข้าสู่ Thailand Gateway มากขึ้น โดยขณะนี้เครือข่ายสาธารณูปโภคที่ใช้จะมีทั้งของ EGA และองค์กรพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ดังนั้นจึงมีความพร้อมในการรองรับอย่างสูง ซึ่งเมื่อประเทศไทยมี Gateway ข้อมูลในแต่ละด้านมากขึ้น ก็จะทำให้การให้บริการประชาชนมีประสิทธิภาพดีขึ้นตามลำดับ
นางสาวเพชรา สังขะวร ผู้อำนวยการศูนย์สารสนเทศการวิจัย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะทำให้ระบบการให้บริการสารสนเทศการวิจัยของประเทศในรูปแบบของ Research Gateway เข้าถึงภาคประชาชน และภาคธุรกิจ ทั้งยังส่งผลถึงการค้าและการลงทุนในอนาคต และลดการคอร์รัปชั่นในระบบราชการ เป็นการยกระดับการบริการภาครัฐด้วย Open Government Data ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง นางสาวเพชรากล่าวทิ้งท้าย