คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ประชุมพิจารณาแล้ว กรณีข้อกล่าวหาแรก คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่า จากข้อเท็จจริงที่ฟังได้ว่ารถโดยสารมีจำนวนลดลงจากเงื่อนไขในสัญญา และมีการเปลี่ยนเส้นทางรถโดยสาร ทำให้มีผลต่อเนื้อที่โฆษณาและกระทบต่อรายได้จากการโฆษณา คณะกรรมการบริหารกิจการองค์การขนส่งมวงชนกรุงเทพจึงมีอำนาจลดหนี้ให้บริษัทแอสแมพ จำกัด ได้ เป็นอำนาจในการบริหารจัดการ ไม่ขัดกับพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ พ.ศ.๒๕๑๙ ประกอบกับเรื่องนี้เทียบเคียงได้กับความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ ๖๑๗/๒๕๔๓ เรื่อง อำนาจของคณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ในการพิจารณาผ่อนปรนการชำระหนี้ที่ค้างชำระของผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่า ภายใต้นโยบายที่คณะกรรมการ กนอ.กำหนด หากคณะกรรมการ กนอ.พิจารณาแล้วเห็นว่า การผ่อนปรนการชำระหนี้ ให้แก่ผู้ประกอบการซึ่งเป็นลูกหนี้ของ กนอ. โดยลดต้นเงินของหนี้ที่ค้างชำระลดลง หรืองดค่าปรับ ดอกเบี้ย หรือเงินเพิ่มที่เกิดจากการชำระหนี้ไม่ตรงตามกำหนดเวลา จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่การดำเนินกิจการของ กนอ. ก็สามารถทำได้โดยใช้อำนาจตามมาตรา ๒๘ ประกอบมาตรา ๒๓ อีกทั้งเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ยังให้ความเห็นอีกว่า การลดหนี้ดังกล่าว รัฐวิสาหกิจสามารถทำได้ และข้อเท็จจริงกรณีนี้ ฟังไม่ได้ว่ามีการช่วยเหลือบริษัท แอดแมพ จำกัด คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติให้ข้อกล่าวหาตกไป
สำหรับกรณีข้อกล่าวหาที่ 2 คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่า ประกาศประกวดราคาได้กำหนดไว้ในข้อ 8.2 ว่า ทางองค์การสงวนสิทธิ์ที่จะแก้ไข เพิ่มเติมเงื่อนไขหรือข้อกำหนดในแบบสัญญาและเอกสารอื่นๆ ตามที่เห็นสมควรเพื่อประโยชน์แก่ทางองค์การจากข้อกำหนดนี้ คณะกรรมการบริหารกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ จึงมีอำนาจแก้ไขรายละเอียดหรือเงื่อนไขที่ประกาศกำหนดไว้ในเอกสารประกวดราคาให้เช่าเนื้อที่โฆษณา รถยนต์โดยสารปรับอากาศและรถโดยสารปรับอากาศรุ่นยูโรทู การแก้ไขดังกล่าวเป็นไปตามข้อสงวนสิทธิ์ในประกาศประกวดราคาให้เช่าเนื้อที่โฆษณาของรถยนต์โดยสารปรับอากาศและรถโดยสารปรับอากาศยูโรทู และไม่จำต้องยกเลิกการประกวดราคา หากเกิดประโยชน์แก่องค์การ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติให้ข้อกล่าวหานี้ตกไปเช่นกัน
ผู้ถูกกล่าวหาสองราย คือ นายสมบัติ ธรธรรม และพล.ต.ต.วันชัย วิสุทธินันท์ คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่า ได้ยกคำกล่าวหาขึ้นพิจารณาเกิน ๑๐ ปี จึงไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่จะทำการ ไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไป ส่วนผู้ถูกกล่าวหาอีกรายหนึ่ง คือ นายพงศกร เลาหวิเชียร เสียชีวิตระหว่างไต่สวนข้อเท็จจริง ให้จำหน่ายคดีการพิจารณาครั้งนี้กรรมการ ป.ป.ช. สองคน คือ พลตำรวจเอกสถาพร หลาวทอง และนางสาวสุภาปิยะจิตติ ไม่ได้ร่วมพิจารณาด้วย