นายธนา ถิรมนัส กรรมการผู้จัดการ โอซีเอส ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า “ในฐานะที่ พีซีเอส เป็นผู้นำด้านบริการรักษาความปลอดภัย เราจึงขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพื่อให้ประชาชนช่วยกันเฝ้าระวังสอดส่องดูแล เป็นหูเป็นตาให้กับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เมื่อพบวัตถุต้องสงสัย”
ข้อปฏิบัติเมื่อพบวัตถุต้องสงสัย
ในกรณีที่ได้รับจดหมาย หรือวัตถุต้องสงสัยว่าจะเป็นระเบิด หากได้รับจดหมายที่ไม่ทราบว่าผู้ส่งเป็นผู้ใดและมีน้ำหนัก หรือมีการใส่ซองที่มีความแน่นหนาผิดปกติ ไม่ควรรีบเปิดจดหมายหรือสิ่งตีพิมพ์นั้น ควรพิจารณาถึงข้อสังเกต ดังนี้
1. เครื่องหมายประทับบนดวงตราไปรษณีย์มาจากที่ใด มาจากแหล่งหรือย่านใดที่มีความเกี่ยวพันกับผู้รับหรือไม่
2. การเขียนหรือจ่าหน้าซองตัวสะกดผู้รับ รวมทั้งสถานที่ที่อยู่ผู้รับถูกต้องหรือคลาดเคลื่อนเพียงใด ความสมดุลของจดหมาย ถ้ามีน้ำหนักหนักไปข้างใดข้างหนึ่งผิดปกติให้ตั้งข้อสงสัยไว้ก่อน
3. น้ำหนักของจดหมาย ถ้ามีน้ำหนักผิดปกติเมื่อเทียบขนาดกับซองแล้ว หรือมีขนาดหนาเกินกว่า 2.5 มิลลิเมตรแล้วให้เพิ่มความระวังเป็นพิเศษ
4. มีรอยเจาะตัดที่ซองหรือไม่ เพราะการป้องกันวัตถุระเบิดอาจจะต้องดัดแปลงซองเพื่อความปลอดภัยของผู้วินาศกรรม
5. สังเกตรอยเปื้อน รอยด่าง ที่อาจจะเกิดจากคราบน้ำมันของวัตถุระเบิดได้
6. สังเกตด้วยการดมกลิ่น วัตถุระเบิดจะมีกลิ่นของสารที่ทำระเบิดบางชนิด มีกลิ่นคล้ายเมล็ดอัลมอนด์ บางชนิดมีกลิ่นหวานหอมเอียน ๆ (กลีเซอรีน)
7. ความรู้สึก วัตถุที่ประกอบเป็นระเบิดจดหมายจะต้องมีชิ้นส่วนของของแข็งที่อาจจะเป็นกระดาษแข็ง แผ่นไม้ ไฟเบอร์ หรือโลหะ ซึ่งจะมีความแตกต่างในการสัมผัสเมื่อเทียบกับกระดาษจดหมายทั่วไป
เมื่อพิสูจน์เบื้องต้นตามคำแนะนำแล้วให้ถือปฏิบัติ ดังนี้
นำวัตถุดังกล่าววางไว้ที่โล่งแจ้งให้ห่างจากอาคารเท่าที่ทำได้ แล้วนำยางรถยนต์ครอบไว้กันผู้คนออกจากบริเวณนั้น แจ้งกองรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ หรือกองสรรพาวุธ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ 911
ข้อพึงระวัง
1. อย่าพยายามเปิดซองจดหมายนั้น
2. อย่าพับงอ หรือตัดเจาะซองจดหมายนั้น
3. อย่านำไปแช่น้ำ
การปฏิบัติเมื่อได้รับพัสดุภัณฑ์ สิ่งตีพิมพ์และสิ่งของต่าง ๆ
หากสงสัยว่าจะเป็นสิ่งของที่เป็นอันตรายโดยเฉพาะวัตถุระเบิด ไม่ควรจะแตะต้องหรือดำเนินการพิสูจน์ทราบเองเป็นอันขาด ควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงดำเนินการตามขั้นตอนด้วยความมีสติควบคุมอารมณ์ให้ได้
1. แจ้งกองรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ หรือกองสรรพาวุธ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ 191 ทันที
2. กั้นเขตอันตรายทันที ห้ามบุคคลทั่วไปผ่านเข้าในรัศมีไม่ต่ำกว่า 15 ฟุต
3. นำยางรถยนต์ครอบวัตถุต้องสงสัย 2-3 เส้น ซ้อนกัน หรือนำกระสอบทรายมาวางกองรอบโดยมีความสูงให้มากกว่าวัตถุต้องสงสัย 2 เท่าขึ้นไป แต่ระวังอย่าให้วางทับวัตถุต้องสงสัย
4. เคลื่อนวัตถุติดไฟหรือเชื้อเพลิงที่มีในพื้นที่ออกไปทันที พร้อมทั้งตัดกระแสไฟฟ้าเพื่อลดความเสียหายเบื้องต้น
ทั้งนี้ พีซีเอส หวังเป็นยิ่งว่าข้อมูลข้างต้นจะเป็นประโยชน์และสามารถช่วยให้ประชาชนสามารถดูแลตัวเองและช่วยกันระมัดระวังเพื่อป้องกันเหตุการณ์อันตรายได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย