“นพ.ประภาส วีระพล” เตือนระวัง 3 โรคหน้าฝน เผยพบผู้ป่วย “โรคตาแดง” แล้วกว่า 7 หมื่นราย

พฤหัส ๒๐ สิงหาคม ๒๐๑๕ ๑๓:๑๕
นายแพทย์ประภาส วีระพล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม แจ้งว่า กรมควบคุมโรคได้รายงานว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ โรคตาแดงจากเชื้อไวรัสมักระบาดในช่วงเวลานี้ เนื่องจากสภาพอากาศที่มีความชื้นสูงและเอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัส โดยข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 3 สิงหาคม 2558 พบผู้ป่วยแล้ว 70,830 ราย ยังไม่พบผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบมากที่สุดตามลําดับ คือ 45-54 ปี(13.35%), 35-44 ปี(12.57%) และ 15-24 ปี(11.96%) จังหวัดที่มีผู้ป่วยสูงสุด 5 อันดับแรกคือ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ แม่ฮ่องสอน เชียงราย และปราจีนบุรี โดยกรมควบคุมโรคได้ขอความร่วมมือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด ประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้ประชาชนในการป้องกันโรคตาแดง โดยเฉพาะตามโรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก ที่ทำงาน ห้างสรรพสินค้า ซึ่งมีคนอยู่รวมกันจำนวนมาก รวมทั้งในพื้นที่น้ำท่วม

รายงานข่าวระบุว่า โรคนี้อาการไม่รุนแรงแต่ติดต่อกันง่าย เนื่องจากเชื้อไวรัสจะอยู่ในสิ่งสกปรก น้ำตา ขี้ตาของผู้ที่เป็นตาแดง ซึ่งการติดต่อจะมี 3 ลักษณะ คือ 1.จากมือที่ไปสัมผัสน้ำตา ขี้ตาของผู้ป่วยตาแดง ที่ติดอยู่ตามสิ่งของพื้นผิวต่าง ๆ เช่น ลูกบิดประตู ราวบันได โต๊ะทำงาน แป้นคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ ราวรถเมล์ เป็นต้น แล้วมาสัมผัสที่ตาหรือใช้ของส่วนตัวร่วมกันกับผู้ป่วย เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว เป็นต้น 2.จากแมลงหวี่แมลงวัน ที่ตอมสิ่งสกปรกหรือตอมตาของผู้เป็นตาแดงแล้วไปตอมตาคนอื่นต่อ 3.จากการลงเล่นในน้ำท่วมขังหรือน้ำสกปรกกระเด็นเข้าตา ซึ่งน้ำจะมีความสกปรกสูง โดยหลังจากติดเชื้อภายใน 2-14 วัน จะมีอาการเคืองตา คันตา ตาแดง น้ำตาไหล มีขี้ตามาก มักเริ่มจากตาข้างหนึ่งก่อน แล้วลามไปยังตาอีกข้างหนึ่งภายใน 2-3 วัน

โรคตาแดงที่เกิดจากเชื้อไวรัสนี้ จะไม่มียารักษาโดยเฉพาะ รักษาตามอาการ คือ ใช้ยาหยอดตาเพื่อลดอาการระคายเคือง ควรระวังไม่ใช้ยาหยอดตาร่วมกัน เนื่องจากเชื้ออาจติดอยู่ที่ปากขวดยาหยอดตาได้ และควรหยุดเรียน หรือหยุดงานอย่างน้อย 3 วัน พักผ่อนให้มากๆ และพักการใช้สายตา ส่วนใหญ่อาการจะค่อยๆ ดีขึ้นและหายภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่หากยังมีอาการระคายเคืองเหมือนมีทรายเข้าตา ตามัว ปวดตารุนแรง หรืออาการตาแดงไม่ทุเลาภายใน 7 วัน ขอให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อตรวจอย่างละเอียดและให้การรักษาอย่างเหมาะสม

ทั้งนี้ สามารถดูแลรักษาโรคตาแดงด้วยตนเองในเบื้องต้นได้ โดยการใช้กระดาษนุ่มๆ ซับน้ำตาหรือใช้สำลีชุบน้ำสะอาดเช็ดขี้ตาและบริเวณเปลือกตา แล้วทิ้งในถังขยะที่มิดชิด ไม่ควรใช้ผ้าเช็ดหน้าซับน้ำตา เนื่องจากเชื้อจะสะสมที่ผ้าเช็ดหน้าและแพร่ไปติดคนอื่นได้ ต้องงดใส่คอนแทคเลนส์จนกว่าตาจะหายอักเสบและใส่แว่นกันแดดเพื่อลดการระคายเคืองแสง และไม่ควรใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว แว่นตา และเครื่องนอน เพื่อป้องกันโรคแพร่ระบาด

“สำหรับการป้องกันโรคตาแดง ขอให้ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ หลีกเลี่ยงการใช้มือแคะ แกะ เกาหน้า ขยี้ตา รักษาความสะอาดของเสื้อผ้าและของใช้ส่วนตัว ไม่ลงไปในน้ำท่วม หากจำเป็นขอให้รีบอาบน้ำให้สะอาดทันทีหลังขึ้นจากน้ำ ส่วนผู้เป็นโรคตาแดง ขอให้งดลงสระว่ายน้ำจนกว่าจะหาย เพื่อป้องกันเชื้อแพร่กระจายในน้ำ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422” นายแพทย์ประภาส วีระพล กล่าว

นายแพทย์ประภาส วีระพล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม เปิดเผยอีกว่า นอกจากโรคตาแดงแล้วยังมีอีก 2 โรคที่ต้องระวัง คือ “โรคเลปโตสไปโรซิส” และ “โรคเมลิออยโดสิส” โรคเลปโตสไปโรซิสเป็นโรคของสัตว์ที่สามารถติดต่อมาสู่คน วิธีการติดต่อ เชื้อถูกปล่อยออกมากับปัสสาวะของสัตว์ที่ติดเชื้อและปนเปื้อนอยู่ตามน้ำ ดินที่เปียกชื้นหรือพืช ผัก เชื้อสามารถไชเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนังตามรอยแผลและรอยขีดข่วนและเยื่อบุของปาก ตา จมูก นอกจากนี้ยังสามารถไชเข้าทางผิวหนังปกติที่อ่อนนุ่มเนื่องจากแช่น้ำอยู่นาน คนมักติดเชื้อโดยอ้อมขณะย่ำดินโคลน แช่น้ำท่วมหรือว่ายน้ำหรืออาจติดโรคโดยตรงจากการสัมผัสเชื้อในปัสสาวะสัตว์หรือเนื้อสัตว์ที่ปนเปื้อนเชื้อ

โรคนี้มีระยะฟักตัวโดยเฉลี่ยประมาณ 10 วัน หรืออยู่ในช่วง 4-19 วัน (อาจเร็วภายใน 2 วัน หรือนานถึง 26 วัน)อาการในคนอาจแตกต่างกันออกไป ขึ้นกับชนิดและปริมาณของเชื้อ อาการที่พบบ่อย ได้แก่ ไข้เฉียบพลัน ปวดศีรษะรุนแรง หนาวสั่น ปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง (มักปวดที่น่อง โคนขา กล้ามเนื้อหลังและน่อง) ตาแดง อาจมีไข้ติดต่อกันหลายวันสลับกับระยะไข้ลด และมีเยื่อหุ้มสมองอักเสบ มีผื่นที่เพดานปาก โลหิตจาง มีจุดเลือดออกตามผิวหนังและเยื่อบุ ตับและไตวาย ดีซ่าน อาจมีเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ทำให้รู้สึกสับสน เพ้อ ซึม กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ อาจมีอาการทางระบบทางเดินหายใจ ไอมีเสมหะ อาจมีเลือดปนและเจ็บหน้าอก

สำหรับโรคเมลิออยโดสิส เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งไม่มีอาการจำเพาะ หรืออาจไม่มีอาการทางคลินิก จนถึงมีเนื้อตาย แผล ฝี หนองที่ปอด ตับ หรือม้าม และหรือมีการติดเชื้อทางกระแสโลหิตอย่างรวดเร็ว วิธีการติดต่อโดยทั่วไปสามารถติดต่อจากการสัมผัสกับดินหรือน้ำผ่านทางแผลที่ผิวหนัง หรือหายใจเอาฝุ่นจากดินที่มีเชื้อ หรือดื่มน้ำที่มีเชื้อเจือปน เชื้อเมลิออยโดสิสสามารถอยู่ได้ในซากสัตว์ ที่อยู่ในดินและน้ำ ระยะฟักตัวอาจสั้นเพียง 2 วัน หรือเป็นปีขึ้นอยู่กับระยะการติดเชื้อและการแสดงอาการของโรค

“อาการและอาการแสดงของโรคนี้อาจพบได้หลายรูปแบบ โดยมีทั้งอาการไข้นานไม่ทราบสาเหตุ อาการของการติดเชื้อเฉพาะที่และการติดเชื้อในกระแสโลหิต การรักษา เนื่องจากผู้ป่วยที่มี septicemia จะเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว ส่วนแนวทางป้องกันโรค บุคคลที่มีอาการของโรคเบาหวาน และแผลบาดเจ็บรุนแรง ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับดินและน้ำ เช่น ในไร่นา ในพื้นที่เกิดโรคประจำ หากมีแผลถลอกหรือไหม้ ซึ่งสัมผัสกับดินหรือน้ำ ควรทำความสะอาดทันที” นายแพทย์ประภาส วีระพล กล่าว

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ