ในปัจจุบันการออกตราสารหนี้สำหรับสินทรัพย์รูปแบบใหม่ๆ (Alternative assets) ในประเทศไทย โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และโครงการโครงสร้างพื้นฐาน ยังมีจำนวนจำกัด อย่างไรก็ตามฟิทช์คาดว่าตลาดตราสารหนี้จะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการเสนอขายตราสารประเภททรัสเพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Investment Trusts: REITs) และตราสารหนี้สำหรับโครงการโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure bonds) เพิ่มมากขึ้น และจะมีบริษัทที่ต้องการระดมทุนผ่านตลาดทุนเพิ่มขึ้นในระยะยาว
โครงการโครงสร้างพื้นฐานน่าจะได้รับความสนใจจากนักลงทุนระยะยาว เช่นบริษัทประกันและกองทุนบำเหน็จบำนาญ เนื่องจากกระแสเงินสดของโครงการมีเสถียรภาพ และได้รับผลกระทบที่จำกัดจากเงินเฟ้อและความผันผวนของตลาดเงิน อย่างไรก็ตามยังมีความท้าทายสำหรับบริษัทประกัน จากการคงเงินทุนในระดับที่อาจเพิ่มขึ้นจากการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง (Risk charges) และประสบการณ์การลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐาน
ในงานสัมนา นักวิเคราะห์อาวุโสของฟิทช์ ได้กล่าวถึงหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการประกอบการพิจารณาอันดับเครดิตของโครงการโครงสร้างพื้นฐาน โดยภายในงานมีผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคการเงิน รวมถึงนักลงทุนสถาบันเข้าร่วมงานมากกว่า 50 คน ในการพิจารณาอันดับเครดิตของโครงการโครงสร้างพื้นฐาน ฟิทช์จะพิจารณาปัจจัยต่างๆ ได้แก่พื้นฐานและวัตถุประสงค์ของโครงการ รายละเอียดของผู้ถือหุ้น ข้อสัญญาและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และความเสี่ยงจากการก่อสร้าง เทคโนโลยี การดำเนินการ และการบำรุงรักษา นอกจากนี้ฟิทช์ยังพิจารณาถึงความเสี่ยงต่อรายได้โครงการจากความไม่แน่นอนของราคา ปริมาณการใช้งานและความสามารถในการรักษาพร้อมใช้งานของโครงการ ฟิทช์ได้รับเกียรติจาก Ms. Hellen Han, Head of International Financial Corporation (IFC) Bangkok Office เป็นผู้ร่วมบรรยายในงานสัมนาครั้งนี้ โดย Ms. Han ได้กล่าวถึงการให้การสนับสนุนจาก IFC ต่อโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคเอเชียตะวันออก