โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ชุมชนท่องเที่ยวต้นแบบในพื้นที่พิเศษ ให้เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว บริษัทนำเที่ยวที่สนใจการท่องเที่ยวแบบแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และมุ่งสัมผัสวิถีชีวิตชุมชน ตลอดจนให้ผู้นำชุมชนได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในเรื่องของการพัฒนาและการส่งเสริมด้านการตลาดการท่องเที่ยวแบบสัมผัสวิถีชีวิตชุมชน ตลอดจนให้ผู้นำชุมชนได้เรียนรู้การพัฒนาและส่งเสริมการตลาดการท่องเที่ยวในประเทศไทย
นายสุเทพ เกื้อสังข์ ผู้อำนวยการสำนักท่องเที่ยวโดยชุมชน องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) กล่าวว่า อพท. ในฐานะองค์กรภาครัฐ ในรูปแบบองค์การมหาชน มีบทบาทหน้าที่ในการประสาน ส่งเสริม และสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในประเทศไทย เรามุ่งมั่นดำเนินงานโดยมีเป้าหมายให้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน สร้างสมดุลการพัฒนาทั้งภาคเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม อย่างยั่งยืน ในส่วนของบทบาทการประสานนั้น อพท. มุ่งเน้นประสานภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนให้มาร่วมกันขับเคลื่อนเดินหน้าการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนให้เกิดขึ้นในประเทศไทย พร้อมไปกับการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยเดินหน้าไปในทิศทางที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนมากขึ้น ผ่านกลไกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน การเสริมสร้างศักยภาพให้ชุมชนท้องถิ่นได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยว และ อีกบทบาทที่สำคัญ คือ การสนับสนุนทั้งองค์ความรู้และทรัพยากรต่างๆที่จำเป็นต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ตลอดระยะเวลาการดำเนินงาน ๑๒ ปีที่ผ่านมา อพท. เราตระหนักดีว่า ชุมชนท้องถิ่นนั้นคือเจ้าของทรัพยากรการท่องเที่ยวที่แท้จริง ดังนั้น การท่องเที่ยวโดยชุมชน จึงเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งที่ อพท. ใช้เป็นกลไกในการบริหารจัดการและขับเคลื่อนการพัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษต่างๆ โดยมุ่งเน้นที่การเสริมสร้างศักยภาพชุมชนท้องถิ่นให้สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาการท่องเที่ยว และ มั่นใจให้มีการดำเนินงานการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างจริงจังเป็นรูปธรรม
โดยในปีนี้ อพท. โดย สทช. ร่วมมือกับ สมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA) ก็เพื่อให้ภาคีระดับประเทศได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเรื่องการท่องเที่ยวโดยชุมชน เพื่อให้ชุมชนในฐานะเจ้าของทรัพยากรการท่องเที่ยว ได้ร่วมรับผิดชอบในการจัดการทรัพยากรทางการท่องเที่ยวที่ทรงคุณค่าในชุมชนให้เกิดมูลค่าทางด้านการท่องเที่ยวและร่วมรับผลประโยชน์โดยแท้จริง โดยผ่านการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เชื่อมโยงการทำงานร่วมกันระหว่างชุมชน เอกชน และองค์กรภาครัฐ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนในสามมิติ ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดในการทำงานของ อพท. โดยสมบูรณ์
นายเชิด สิงคำป้อง ประธานเครือข่ายชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน กล่าวว่า ในส่วนของชมรมเครือข่ายฯ เกิดจากการรวมตัวกันของชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนต้นแบบ 13 ชมรม ใน 5 พื้นที่พิเศษ ได้แก่ ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนตำบลแหลมกลัด และชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว จากจังหวัดตราด , ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านสันลมจอย และชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านไร่กองขิง จังหวัดเชียงใหม่ , ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนตำบลห้วยใหญ่ (บ้านชากแง้ว) และชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนตำบลตะเคียนเตี้ย จากพัทยา , ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนตำบลนครชุม จังหวัดกำแพงเพชร , ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนตำบลเมืองเก่า และชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนตำบลสารจิต (บ้านคุกพัฒนา) จังหวัดสุโขทัย , ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนตำบลกกสะทอน และชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนตำบลปลาบ่า จากจังหวัดเลย , ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนตำบลในเวียง – บ้านหนองเต่า และชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนตำบลบ่อสวก จากจังหวัดน่าน
การรวมตัวกันของทั้ง 13 ชมรมต้นแบบนั้น ก็เพื่อที่จะหนุนเสริมซึ่งกันและกัน แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวที่แต่ละชมรมดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน ให้แก่กันและกัน