กรุงเทพฯ--3 ส.ค.--กทม.
เมื่อวานนี้(2 ส.ค. 48 เวลา 13.30 น.) ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกทม. นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายชลิต เรืองวิเศษ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง นายยิ่งศักดิ์ ศรีสุขสวัสดิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ นายจิรชัย สีจร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ร่วมกันลงนามใน “บันทึก ข้อตกลงร่วมมือโครงการนำสายลงดินในกรุงเทพมหานคร”
กรุงเทพมหานครมีนโยบายในการจัดระเบียบบนทางเท้า เพื่อให้มีทัศนียภาพที่สวยงาม มีทางเท้าที่น่าเดิน โดยก่อนหน้านี้ได้มีการจัดระเบียบตู้โทรศัพท์สาธารณะ เสา ป้าย และสายเคเบิลไปแล้วนั้น ในการนี้กรุงเทพมหานคร การไฟฟ้านครหลวง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีเจตนารมณ์ที่ตรงกันที่จะนำสายสาธารณูปโภคที่ไม่เป็นระเบียบบริเวณบนทางเท้าลงดิน เพื่อให้เกิดความสวยงาม สร้างความมั่นคงในระบบไฟฟ้าและรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น จึงได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมมือโครงการนำสาย ลงดินในกรุงเทพมหานคร ในวันนี้
สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลงของหน่วยงานสาธารณูปโภคดังกล่าวได้กำหนดนโยบายร่วมกัน เพื่อประโยชน์แห่งการบริการต่อประชาชนชาวกรุงเทพฯ โดยในระยะแรกการไฟฟ้านครหลวงจะนำเสาไฟฟ้าออกจากถนน และแบ่งการดำเนินการเป็น 3 ระยะ คือ ปี 2549 จะดำเนินการถนน 8 สาย ได้แก่ ถนนพระรามที่ 1 (จากแยกราชประสงค์ถึงแยกปทุมวัน) ถนนเพลินจิต (จากแยกราชประสงค์ถึงทางรถไฟสายท่าเรือ) ถนนราชดำริ (จากแยกศาลาแดงถึงสะพานเฉลิมโลก) ถนนพระรามที่ 6 (จากแยกอุรุพงษ์ถึงแยกตึกชัย) ถนนราชวิถี (จากแยกตึกชัยถึงถนนสวรรคโลก) ถนนสุโขทัย (จากถนนสวรรคโลกถึงถนนพิชัย) ถนนพิชัย ถนนอู่ทองใน ถนนราชดำเนินนอก (จากถนนอู่ทองในถึงถนนพิษณุโลก) ถนนพิษณุโลก (จากถนนราชดำเนินนอกถึงถนนพระรามที่ 6) ปี 2550 — 2551 ดำเนินการบริเวณถนน 5 สาย ได้แก่ ถนนพหลโยธิน (จากห้าแยกลาดพร้าวถึงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ) ถนนประดิพัทธ์ (จากถนนพหลโยธินถึงถนนพระรามที่ 6 ) ถนนพญาไท (จากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิถึงสะพานหัวช้าง) ถนนศรีอยุธยา (จากแยกพญาไทถึงถนนราชปรารภ) ถนนเพชรบุรี (จากแยกราชเทวีถึงถนนบรรทัดทอง) และ ปี 2552 ดำเนินการถนนสุขุมวิท (จากทางรถไฟท่าเรือ ถึง ซ.สุขุมวิท 81) อย่างไรก็ดี เพื่อเป็นการลดปัญหาการทำงานที่ซ้ำซ้อนในการขุดดถนน และลดปัญหาการจราจร ทั้งนี้ระหว่างการก่อสร้างการไฟฟ้านครหลวง จะไม่เปิดผิวถนนทั้งหมด แต่จะนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาใช้ คือ ระบบดันท่อ ( pipe jacking ) ซึ่งจะทำให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว ในการทำงานและไม่กีดขวางการจราจร ในขณะเดียวกันเพื่อความปลอดภัยในถนนสายต่างๆ กทม.จะดำเนินการติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างสาธารณะในถนนทุกสายดังกล่าวข้างต้นควบคู่กันไปด้วย โดยกทม.เป็นผู้จัดสรรงบประมาณสำหรับการติดตั้งทั้งหมด ส่วนการไฟฟ้านครหลวงจะเป็นผู้ออกแบบและติดตั้ง
นอกจากนี้กทม.จะดำเนินการปรับปรุงทัศนียภาพบริเวณรอบเกาะรัตนโกสินทร์ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยนำสายไฟฟ้าและสายโทรศัพท์ลงดิน ซึ่งกทม.จะเป็นผู้จัดหางบประมาณดำเนินการเอง และขอความร่วมมือการไฟฟ้านครหลวงเป็นผู้ออกแบบ ติดตั้งเปลี่ยนระบบสายอากาศเป็นสายใต้ดิน พร้อมนำเสาไฟฟ้าออกจากถนน โดย ปี 2549 จะดำเนินการที่ถนนราชดำเนินกลาง ถนนราชดำเนินใน ถนนท้ายวัง ถนนวัดพระเชตุพน และถนนมหาราช ในปี 2550 จะดำเนินการที่ถนนหน้าพระลาน ถนนสนามไชยและถนนข้าวสาร ทั้งนี้เพื่อให้เกิดทัศนียภาพที่สวยงาม และน่าท่องเที่ยวต่อไป
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net--จบ--
- ม.ค. ๒๕๖๘ ภาพข่าว: The Coast Bangkok Digital Living @ The Emporium
- ม.ค. ๒๕๖๘ ภาพข่าว: เฮลิกซ์ฯ คว้ารางวัล Bronze Award งาน “สุดยอดแคมเปญการตลาด MAT AWARD 2019”
- ม.ค. ๒๕๖๘ ภาพข่าว: เปิดคลาสวันแรก! NIA จัดอบรมหลักสูตร CCIO รุ่น 2 เสริมแกร่งผู้บริหารนักพัฒนาเมือง
- ม.ค. ๒๕๖๘ ตำมั่ว จับมือ วีคอร์น ปั้น 2 เมนูข้าวโพดพร้อมทาน วางขายทั่วประเทศ