รายงานวิจัยล่าสุดของสมาคมจีเอสเอ็ม (GSMA) ในหัวข้อ ‘รายงานการศึกษาการสร้างสังคมดิจิทัลเพื่อการคมนาคมในเอเชีย’ (Building Digital Societies in Asia: Making Transportation Smarter) พบว่า การติดตั้งระบบคมนาคมอัจฉริยะ (ITS) ในกรุงเทพฯ สามารถร่นระยะเวลาเดินทาง ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ซึ่งช่วยเพิ่มมูลค่าผลประโยชน์ทางด้านสังคมและเศรษฐกิจได้มากถึง 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี นอกจากนี้ กรณีศึกษาระบบคมนาคมของกรุงเทพฯยังบ่งชี้ว่า ITS สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีในระยะยาวต่อพฤติกรรมการเดินทาง อีกทั้งกระตุ้นให้ประชาชนหันไปใช้วิธีการเดินทางที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
“ปัจจุบัน ITS ได้รับการยอมรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในเรื่องของประโยชน์ที่มีต่อสิ่งแวดล้อม โดยช่วยยกระดับผลิตภาพ ความปลอดภัย และคุณภาพชีวิตโดยรวม” มร.คริส ซุล ผู้อำนวยการให้คำปรึกษาด้านความถี่ประจำทวีปเอเชีย สมาคมจีเอสเอ็ม (GSMA) กล่าว “โซลูชั่น ITS ถูกนำไปใช้งานทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศพัฒนาแล้ว เพื่อจัดการกับความท้าทายหลักๆที่เกี่ยวเนื่องกับการคมนาคม ทั้งนี้ ในขณะที่อัตราการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตบนมือถือในเอเชียนั้นปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก จึงนับเป็นโอกาสอันดีสำหรับเมืองหลวงที่มีประชากรหนาแน่นอย่างกรุงเทพฯ ที่จะได้พัฒนาปรับปรุงระบบการจราจรให้คล่องตัวมากขึ้น เพิ่มพูนผลิตภาพ ลดการปล่อยมลพิษจากยานยนต์ อีกทั้งยังเพิ่มความปลอดภัยให้แก่ผู้คนที่สัญจรไปมาเพิ่มมากขึ้น”
โซลูชั่น ITS เป็นการบูรณาการระบบสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ เข้ากับระบบบริหารจัดการและการทำงานด้านการคมนาคมสำหรับช่องทางคมนาคมทุกรูปแบบ การใช้งาน ITS นั้นมีตั้งแต่การให้ข้อมูลข่าวสารสำหรับนักเดินทางและการบริหารจัดการการจราจร ไปจนถึงการกำหนดราคาค่าเดินทางและระบบชำระเงิน เช่นเดียวกับความปลอดภัยของคนเดินถนนและยานยนต์ โดยโซลูชั่น ITS จะคอยรวบรวมข้อมูลจากยานยนต์ โครงสร้างพื้นฐาน หรือผู้ใช้งาน เพื่อนำไปวิเคราะห์และป้อนข้อมูลกลับ เพื่อช่วยให้ผู้ใช้งานได้รับข่าวสารและสามารถเลือกรูปแบบการเดินทางได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
การขยายตัวของเมืองต่างๆ ทั่วโลกกำลังสร้างความกดดันให้กับเหล่านักวางผังเมืองในการทำให้โครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมมีประสิทธิภาพและปลอดภัยมากขึ้น และขณะที่ทั่วโลกมีการเชื่อมต่อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เทคโนโลยีขั้นสูงอย่าง ITS จึงเป็นนวัตกรรมที่ช่วยให้สามารถบริหารจัดการการจราจรได้ดีขึ้น อีกทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานได้รับข่าวสารมากขึ้น และสามารถเลือกใช้เครือข่ายคมนาคมได้อย่างปลอดภัยกว่า เชื่อมโยงได้ดีกว่า และอัจฉริยะยิ่งกว่า
รุ่นระยะเวลาเดินทาง ลดการปล่อยมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน
รายงาน GSMA Intelligence ล่าสุดเปิดเผยว่า การติดตั้งโซลูชั่น ITS ในกรุงเทพฯ สามารถร่นระยะเวลาเดินทางของนักเดินทางไปกลับเป็นประจำหนึ่งรายได้ถึง 2-4 วันต่อปี นอกจากนี้ การปล่อยก๊าซ CO2 อันเป็นผลมาจากการจราจรบนท้องถนนนั้นสามารถปรับตัวลดลงได้ถึง 10-20% หรือคิดเป็น 3-5 ล้านเมตริกตันต่อปี สุดท้ายนี้ โซลูชั่น ITS ยังช่วยลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ถึง 8,000 ครั้งต่อปี ซึ่งสามารถช่วยชีวิตผู้คนได้ถึง 100 ราย หรือคิดเป็นเกือบหนึ่งในสี่ของยอดผู้เสียชีวิตจากอุบัติถนนทางถนนในกรุงเทพฯตลอดทั้งปี 2556
โซลูชั่น ITS สามารถนำไปใช้กับเทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์สำหรับการสื่อสารทั้งแบบไร้สายและต่อสาย และเนื่องจากประชาชนและภาคเอกชนต่างเป็นฝ่ายได้รับผลประโยชน์ ITS จึงจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากบรรดาผู้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องจากหน่วยงานต่างๆ (stakeholders) โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเหล่าผู้ผลิตยานยนต์ ผู้ให้บริการเครือข่ายเชื่อมต่อ เช่นเดียวกับรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐ