ความสุขมวลรวมของประชาชนที่ระบุสุขมาก ถึง มากที่สุดมีอยู่ร้อยละ 18.5 ระดับค่อนข้างมากมีอยู่ร้อยละ 42.2 ระดับปานกลางมีอยู่ร้อยละ 20.1 ค่อนข้างน้อยมีอยู่ร้อยละ 13.4 ในขณะที่ สุขน้อยถึงไม่มีความสุขเลย มีอยู่ร้อยละ 5.8 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ค่าความสุขมวลรวมของประชาชนเฉลี่ยอยู่ที่ 7.53 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน
ดร.นพดล กล่าวต่อว่า เมื่อทำการวิเคราะห์ 5 ปัจจัยแรกที่ทำให้คนไทยมีความสุข พบว่า อันดับที่1 ได้แก่ การเห็นคนไทยเป็นหนึ่งเดียวกัน ร่วมปั่นเพื่อแม่ แสดงความจงรักภักดีและความกตัญญู โดยมีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 9.41 คะแนน รองลงมา อันดับที่2 ได้แก่ ความสัมพันธ์ที่ดีของคนในครอบครัว ได้ 8.15 คะแนน อันดับที่3 ได้แก่ สุขภาพใจ ได้ 7.63 คะแนน อันดับที่4 ได้แก่ ความรักความสามัคคีของคนในชาติ ได้ 7.61 คะแนน และอันดับที่5 ได้แก่ เงินเดือนและรายได้จากทุกแหล่ง ได้ 6.29 คะแนน
ที่ปรึกษา ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน กล่าวว่า ผลสำรวจนี้สอดคล้องกับงานวิจัยความสุขของคนไทยก่อนหน้านี้ที่พบว่า เงินเป็นเรื่องสำคัญแต่ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญอันดับแรกที่ทำให้คนไทยมีความสุข แต่เป็นเรื่องของการที่คนไทย เห็นคนไทยเป็นหนึ่งเดียวกัน แสดงความจงรักภักดีมากกว่า
ที่น่าพิจารณาคือ สิ่งที่ทำให้คนไทยมีความทุกข์ อันดับแรก หรือร้อยละ 46.1 ระบุ บ้านเมืองไม่สงบ ความวุ่นวาย การเคลื่อนไหวของนักการเมือง รองลงมา ร้อยละ 22.9 ระบุ สภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ำ เศรษฐกิจในประเทศถดถอย ในขณะที่ ร้อยละ 21.5 ระบุ ภาพความขัดแย้งทางการเมือง ชุมนุมประท้วง คนไทยทะเลาะกันที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ทำให้คนไทยไม่มีความสุข และร้อยละ 9.5 ระบุ อื่นๆ ได้แก่ ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นของนักการเมือง ปัญหาอาชญากรรมและความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และปัญหาสุขภาพ เป็นต้น
เมื่อสอบถาม ถึง แนวโน้มความสุขของคนไทย เปรียบเทียบระหว่าง ก่อน และ หลัง รัฐบาลและ คสช. เข้ามาคืนความสุขแก่ประชาชน พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 73.4 ระบุ ความสุขเพิ่มขึ้น หลังจาก คสช. และ รัฐบาล เข้ามาแก้ปัญหา ในขณะที่ร้อยละ 26.6 ระบุ ความสุขลดลง
“ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่า ความสุขมวลรวม (Gross Domestic Happiness, GDH) ของคนไทยยังค่อนข้างสูง สวนทางกับสภาวะเศรษฐกิจของโลกและดัชนีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือ Gross Domestic Product, GDP ที่อยู่ในช่วงขาลง สอดคล้องกับผลวิจัยความสุขมวลรวมของคนไทยก่อนหน้านี้ที่พบว่า ถึงแม้เงิน เป็นเรื่องสำคัญแต่ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้คนไทยมีความสุข จึงเห็นได้ว่า ความสุขของคนไทยมีเอกลักษณ์เฉพาะแตกต่างไปจาก นานาประเทศ เพราะ ความสุขของคนไทยเกิดขึ้นทุกครั้งที่เห็น คนไทยเป็นหนึ่งเดียวกันแสดงความจงรักภักดี และล่าสุด ความสุขของคนไทยพุ่งขึ้นอีกครั้งเมื่อได้เห็นภาพการแสดงความจงรักภักดีและแสดงความกตัญญูอย่างพร้อมเพรียงกันทั่วประเทศในกิจกรรม “ปั่นเพื่อแม่” หรือ “Bike for Mom” ดังนั้น การกำหนดยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศต่อไปคือ การรณรงค์ให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียวกัน ความจงรักภักดี ความรักความสามัคคีของคนในชาติอย่างต่อเนื่อง และต้องมีแผนปฏิบัติการจัดการกับ “ขบวนการ” สร้างความไม่สงบ ความวุ่นวายทางการเมืองในเชิงรุก จัดการได้ตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผนก่อการของขบวนการเหล่านั้น และเร่งกระตุ้นพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยเพื่อดึงความเชื่อมั่นของสาธารณชนกลับคืนมา” ดร.นพดล ที่ปรึกษา ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน กล่าว
ลักษณะทั่วไปของแกนนำชุมชนตัวอย่าง
แกนนำชุมชนร้อยละ 86.9 เป็นเพศชาย ในขณะที่ร้อยละ 13.1 เป็นเพศหญิง ร้อยละ 7.7 มีอายุต่ำกว่า 40 ปี ร้อยละ 33.7 ระบุอายุ 40-49 ปี และร้อยละ 58.6 ระบุอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจำแนกตามระดับการศึกษาที่สำเร็จมาชั้นสูงสุดพบว่า ร้อยละ 34.3 สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น/ต่ำกว่า ร้อยละ 49.0 สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย/ป.ว.ช. ร้อยละ 4.1 ระบุสำเร็จการศึกษาระดับอนุปริญญา/ป.ว.ส. ร้อยละ 12.6 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ตามลำดับ