“อมตะ” พร้อมเดินหน้าพัฒนาสวนอุตสาหกรรมไฮ-เทค“อมตะซิตี้ลัมถั่น” พื้นที่กว่า 2,500 ไร่ ประมาณ1 ใน 3 ของพื้นที่พัฒนาเมืองอุตสาหกรรม ในจังหวัดดองใน ประเทศเวียดนาม ภายหลังได้รับการอนุมัติเข้าลงทุนอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลเวียดนาม เพื่อดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศได้ไม่ต่ำกว่า 590 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดพร้อมเปิดรับลูกค้ารายแรกต้นปี2560
นางสมหะทัย พานิชชีวะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อมตะ วีเอ็น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้ อมตะ วีเอ็น ได้รับการอนุมัติใบอนุญาตเข้าลงทุนอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลเวียดนามในส่วนของการลงทุนก่อสร้างสวนอุตสาหกรรมไฮ-เทค (Hi-Tech Industrial Park) “อมตะซิตี้ลัมถั่น” บนพื้นที่ 2,562.5 ไร่ (410 เฮคแตร์) ซึ่ง เป็น 1 ใน 3 ของพื้นที่ทั้งหมดตามแผนพัฒนาเมืองอุตสาหกรรม ที่มีพื้นที่ทั้งสิ้น 8,031 ไร่ (1,285 เฮคแตร์) ซึ่งพร้อมเดินหน้าในการลงทุนและคาดว่าจะใช้ระยะเวลา12-16 เดือน ในการออกแบบก่อสร้างและพัฒนาเฟสแรกให้แล้วเสร็จซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดรับลูกค้ารายแรกได้ประมาณต้นปี 2560
“การพัฒนาสวนอุตสาหกรรมไฮ-เทค “อมตะซิตี้ลัมถั่น” จะมีการพัฒนาพื้นที่รองรับอุตสาหกรรมและพื้นที่กิจกรรมสนับ สนุนอุตสาหกรรม (Industrial Support) ซึ่งคิดเป็นพื้นที่กว่าร้อยละ 70 ของพื้นที่ทั้งหมด คาดว่าจะใช้งบ ประมาณในการการลงทุนจำนวน 258 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่ก่อให้เกิด มลภาวะ ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิต และกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ Smart Phone LED Monitor Home Appliance ซึ่งมีการเติบโตและขยายตัวเป็นอย่างมากในประเทศเวียดนาม” นางสมหะทัย กล่าว
อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างสวนอุตสาหกรรมไฮ-เทค “อมตะซิตี้ลัมถั่น” นับเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาโครงการเมืองอุตสาหกรรม ซึ่งยังมีส่วนการพัฒนาพื้นที่ส่วนที่เหลืออีก 2 โซน ที่จะได้รับสิทธิในการพัฒนาพื้นที่อีก 5,468.5 ไร่ (875 เฮคแตร์) ประกอบด้วยโครงการพัฒนาเป็นเซอร์วิส ทาวน์ชิพ (Serviced Township) และ โครงการ เมกะ ทาวน์ชิพ (Mega Township) โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบเพื่อประกอบการขอใบอนุญาต เข้าลงทุน ซึ่งขณะนี้ได้รับความสนใจจากบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จากประเทศญี่ปุ่น ไต้หวัน และ มาเลเซีย
โดย เมืองอุตสาหกรรมนี้ ตั้งอยู่ในจังหวัดดองใน บนพื้นที่ด้านตะวันออกของมหานครโฮจิมินห์และห่างจากตัวเมืองโฮจิมินห์ เพียง 20 กิโลเมตร โดยมีจุดยุทธศาสตร์สำคัญ คือ ความสะดวกด้านการเดินทางและการขนส่งสินค้า เนื่องจากอยู่ใกล้สนามบิน ตัน เซิน เณิ๊ต และสนามบินนานาชาติแห่งใหม่ (Long Thanh International Airport) ซึ่งถูกเชื่อมต่อโดยทางหลวง พิเศษ ลองทั่น เหย่าไย (Long Thanh - Dau Giay Express Way) รวมถึงมีท่าเรือขนส่งสินค้าอีก 4 แห่ง ที่มีระยะทางเพียง 10 – 55 กิโลเมตร