นายสุวิทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัด 5 หน่วยงาน เข้าร่วมแสดงนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเกษตรภายในงาน อาทิ กรมการข้าว ได้นำพันธุ์ข้าวที่ผ่านการรับรองพันธุ์ข้าวใหม่ จำนวน 7 พันธุ์ ซึ่งทั้งหมดเป็นพันธุ์ข้าวที่ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ คือ เกษตรกร ผู้บริโภค รวมทั้งผู้ประกอบการแปรรูปข้าว กรมปศุสัตว์ นำผลการศึกษาวิจัยการทำเนยแข็งเฟต้า ที่ผลิตจากน้ำนมโคและน้ำนมกระบือมาจัดแสดง เพื่อส่งเสริมการแปรรูปให้เกษตรกรได้ใช้ประโยชน์จากน้ำนมกระบือ และน้ำนมโค ซึ่งช่วยเพิ่มมูลค่า ยืดอายุการเก็บรักษา และสร้างรายได้ให้เกษตรกร กรมประมง นำพันธุ์ปลาที่มีการวิจัยเพื่อพัฒนาสายพันธุ์ให้มีมูลค่าสูงในเชิงพาณิชย์ 5 ชนิดมาจัดแสดง กรมหม่อนไหม นำนวัตกรรมการลงทะเบียนเกษตรกรด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และเครื่องสาวไหมขนาดเล็กพร้อมกับตู้อบรังไหมขนาดเล็กเพื่อเกษตรกรรายย่อยมาจัดแสดงในรูปแบบนิทรรศการ และกรมวิชาการเกษตรซึ่งเป็นหน่วยงานสนับสนุนทางการเกษตรที่สำคัญ ทั้งนี้นวัตกรรมและผลงานวิจัยทั้งหมดนี้ นอกจากจะก่อให้เกิดการเรียนรู้ การพัฒนาต่อยอด เพื่อนำเศรษฐกิจไทยสู่ความยั่งยืนแล้ว ยังเป็นการสร้างความร่วมมือให้เกิดความเข้มแข็งของภาคเกษตรของประเทศไทยอีกด้วย
“ปัจจุบันมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยในตลาดโลกในปี 2557 มีมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรรวม 1,041,197 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนการส่งออกสินค้าเกษตรไปยังภูมิภาคอาเซียนเป็นอันดับ 1 ร้อยละ 22% ญี่ปุ่น 13% และจีน 12% ตามลำดับ ซึ่งประเทศไทยยังคงครองตลาดสินค้าเกษตรหลักๆ ในตลาดโลก อาทิ ข้าว กุ้ง มันสำปะหลัง เป็นต้น แต่อาเซียนกับไทยมีการผลิตสินค้าเกษตรที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจเหมือนกันหลายสินค้า อาทิ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง อ้อย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และกาแฟ เป็นต้น ดังนั้น จึงทำให้อาเซียนเป็นทั้งคู่ค้าและคู่แข่งที่สำคัญของไทย ทั้งนี้ การเกษตรเป็นอุตสาหกรรมที่มีอนาคต ซึ่งจะเห็นว่าสินค้าเกษตรของไทยยังมีโอกาสอีกมากมายในเวทีการค้าโลก สิ่งสำคัญอยู่ที่ยุทธศาสตร์ ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องช่วยกันยกระดับ “เกษตรกร” ให้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการให้ได้” นายสุวิทย์ กล่าว