“สิ่งที่กลุ่มรณรงค์ต่อต้านบุหรี่ทำ คือ การนำข้อกล่าวหาที่ไม่มีมูลความจริงมาปะติดปะต่อ โดยข้อมูลเกี่ยวกับการนำเข้าของบริษัทได้รับการตรวจสอบทั้งจากหน่วยงานราชการไทยเองและหน่วยงานระหว่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญและอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบเรื่องราคาศุลกากร โดยหน่วยงานเหล่านี้ได้มีข้อสรุปว่าบริษัทไม่ได้มีการกระทำผิดใดๆ สำหรับในเรื่องราคานำเข้าที่จะต้องมีการเสียภาษีโดยผู้ประกอบการ เช่น ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ดกับราคาซื้อขายในดิวตี้ฟรีนั้นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้โดยตรง อีกทั้งยังเป็นการเปรียบเทียบที่ใช้ไม่ได้ด้วยเนื่องจากมาตรฐานการประเมินราคาศุลกากรทั้งของไทยและระหว่างประเทศนั้นถือว่าช่องทางการจำหน่ายดังกล่าวมีความแตกต่างกัน คำวินิจฉัยก่อนหน้านี้โดยกรมศุลกากรไทย คณะกรรมการวินิจฉัยพิจารณาอุทธรณ์ สำนักงานตรวจสอบอากรและองค์การการค้าโลกล้วนเป็นข้อพิสูจน์ว่าการดำเนินธุรกิจของเราถูกต้องและสอดคล้องกับกฎหมายของประเทศไทยและหลักปฏิบัติสากล”
ทั้งนี้ ดีเอสไอซึ่งได้เริ่มต้นการสอบสวนคดีดังกล่าวเมื่อปีพ.ศ. 2549 และได้กล่าวหาว่าฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ดสำแดงราคานำเข้าบุหรี่ในช่วงปี 2546-2550 จากประเทศฟิลิปปินส์ต่ำกว่าความเป็นจริง โดยเมื่อสี่ปีที่แล้ว อัยการได้มีความเห็นไม่ฟ้องบริษัทและพนักงานหลังจากที่คณะกรรมการระงับข้อพิพาทและคณะอุทธรณ์ขององค์การการค้าโลกได้มีคำวินิจฉัยว่าประเทศไทยไม่มีมูลเหตุที่จะปฏิเสธราคาสำแดงของฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด แต่เนื่องจากนายธาริต เพ็งดิษฐ์ผู้ดำรงตำแหน่งอธิบดีดีเอสไอขณะนั้นได้มีความเห็นแย้งต่อคำสั่งไม่ฟ้องของอัยการ คดีจึงอยู่ที่สำนักงานอัยการสูงสุดขณะนี้
ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ดได้ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องนับตั้งแต่ดีเอสไอได้เริ่มดำเนินการสอบสวน “เราเชื่อมั่นอย่างมากว่าบริษัทไม่ได้กระทำความผิดใดๆ” นายม้อดลินเสริม “เราเชื่อว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะคงความเป็นกลางและปฏิเสธความพยายามที่เห็นได้ชัดของเอ็นจีโอบุหรี่ในการแทรกแซงกระบวนการทางกฎหมายเพื่อสร้างแรงกดดันต่อการตัดสินใจของรัฐบาล การที่เอ็นจีโอเผยแพร่ข้อมูลที่กล่าวหาบริษัทที่ไม่มีมูลความจริงนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทั้งๆ ที่ผู้เชี่ยวชาญทั้งของไทยและของนานาชาติได้ตรวจสอบและปฏิเสธที่จะใช้ข้อมูลเหล่านี้ นับเป็นการกระทำที่ไร้ความรับผิดชอบที่สุด” นายม้อดลินกล่าวทิ้งท้าย