งานสัมมนาวิชาการของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ครั้งที่ 12 ประจำปี 2558 “นวัตกรรมการคลังการเงินเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย”

พฤหัส ๒๗ สิงหาคม ๒๐๑๕ ๐๙:๐๖
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้แถลงผลการสัมมนาวิชาการของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ครั้งที่ 12 ประจำปี 2558 ในหัวข้อ “นวัตกรรมการคลังการเงินเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย” เมื่อวันพุธที่ 26 สิงหาคม 2558 ณ ห้องแอทธินี คริสตัล ฮอลล์ โรงแรมพลาซ่าแอทธินี รอยัล เมอริเดียน กรุงเทพฯ ว่า การสัมมนาวิชาการของ สศค. ครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมการสัมมนาประมาณ 700 คน มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ และการยอมรับในนโยบายและผลงานวิชาการด้านเศรษฐกิจ การคลัง และการเงิน ให้แก่ประชาชน รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ตลอดจนเป็นเวทีให้ข้าราชการ สศค. ได้นำเสนอผลงานและแนวคิดทางวิชาการในเรื่องที่สำคัญและอยู่ในความสนใจของสังคม พร้อมทั้งเปิดรับฟังความคิดเห็นจากนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ และประชาชน อันจะนำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนาไปสู่ข้อเสนอแนะทางนโยบายต่อไป โดย สศค. ได้รับเกียรติจากนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นผู้กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “นโยบายการคลังการเงินกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย” ซึ่งได้กล่าวว่า ตัวเลขเศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวดีกว่าปีก่อนหน้า แต่อาจไม่สอดคล้องกับความรู้สึกของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มรากหญ้าที่ต้องพึ่งพาตัวเอง ประกอบกับภัยธรรมชาติ และราคาพืชผลทางการเกษตรที่ตกต่ำ ภาคเอกชนลดกำลังการผลิต ลดการจ้างงาน ส่งผลให้ประชาชนมีรายได้น้อยลง รัฐบาลจะเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ผ่านมาตรการต่าง ๆ เช่น

1. เร่งรัดการเบิกจ่ายเงินงบประมาณในโครงการลงทุนขนาดเล็ก

2. เติมเงินให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อยผ่านการปล่อยเงินกู้ของกองทุนหมู่บ้าน

เพื่อบรรเทาผลกระทบให้กับประชาชน และสร้างเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งเร่งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ นอกจากนี้ รัฐบาลจะให้สิทธิประโยชน์เพื่อกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่มีศักยภาพ และวางรากฐานทางเศรษฐกิจและการคลังของประเทศให้เข้มแข็ง ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายต่อจากนี้ไปจะเป็นในลักษณะรวดเร็ว ทั่วถึง และมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะข้างหน้า

ในช่วงเช้าของการสัมมนาฯ เป็นการนำเสนอผลงานวิชาการ 2 เรื่อง เรื่องแรก ได้แก่ “ย้อนมองรายได้รัฐบาล สร้างอนาคตด้วยนวัตกรรมการจัดเก็บรายได้” สรุปได้ ดังนี้

ดร. สิริกมล อุดมผล นำเสนอผลการศึกษาว่า ในช่วง 57 ปีที่ผ่านมาพบว่า รัฐบาลพึ่งพารายได้ภาษีเป็นแหล่งรายได้หลัก โดยกว่าร้อยละ 90 ของรายได้รัฐบาลมาจากภาษี และพบว่าในช่วงดังกล่าวรายได้ของรัฐบาลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเปรียบเทียบกับขนาดเศรษฐกิจ (GDP) ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบกับต่างประเทศ พบว่า สัดส่วนรายได้รัฐบาลต่อ GDP ของประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 62 จาก 127 กลุ่มประเทศตัวอย่าง โดยสัดส่วนรายได้รัฐบาลต่อ GDP ในปี 2555 อยู่ที่ร้อยละ 17.3 ซึ่งใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของ 127 ประเทศที่ร้อยละ 17.9 อีกทั้งพบว่า โครงสร้างรายได้รัฐบาลของไทยเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกับต่างประเทศ เพื่อการหารายได้ให้เพียงพอต่อการใช้จ่ายของภาครัฐ และส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี การที่รัฐบาลจำเป็นต้องใช้จ่ายเพื่อการพัฒนาประเทศ การปรับปรุงเฉพาะประเภทภาษีและอัตราภาษีเพียงมิติเดียว จึงอาจไม่เพียงพอ แต่จำเป็นต้องพัฒนาการบริหารจัดเก็บภาษีด้วย

ดร. ปภาภรณ์ ชุณหชัชราชัย นำเสนอว่า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานภาษีของประเทศไทย ควรมีการพิจารณาและติดตามต้นทุนที่ผู้เสียภาษีต้องจ่ายไปเพื่อให้การดำเนินการทางภาษีและชำระภาษีเป็นไปอย่างถูกต้อง (Tax Compliance Costs) ควบคู่ไปกับต้นทุนการบริหารงานภาษี (Tax Administrative Costs) อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเรียนรู้และนำหลักปฏิบัติที่ดีจากต่างประเทศมาใช้เพื่อปรับเปลี่ยนการบริหารงานจัดเก็บภาษีให้มีความทันสมัย และเน้นการบริการที่ดีต่อผู้เสียภาษี นอกจากนี้ การศึกษาได้มีการนำเสนอทางเลือกในการปฏิรูประบบการบริหารจัดเก็บภาษี ที่เรียกว่า หน่วยงานจัดเก็บภาษีกึ่งอิสระ หรือ SARA (Semi-autonomous Revenue Agency) เพื่อให้โครงสร้างหน่วยงานบริหารจัดเก็บภาษีโครงสร้างมีความยืดหยุ่น และสามารถนำไปสู่การลดต้นทุนการบริหารงานภาษี การบริการผู้เสียภาษีที่ดีขึ้น การขยายฐานภาษีและการจัดเก็บรายได้อย่างมืออาชีพมากขึ้น นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและดูแลสวัสดิการของประชาชนไทยอย่างจริงจังและยั่งยืน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้ความเห็นว่า ข้อเสนอการจัดตั้งหน่วยงาน SARA มีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ควรมีการศึกษาข้อดีข้อเสียในรายละเอียดต่อไปเพื่อประกอบการกำหนดนโยบายในอนาคต รวมทั้ง ควรมีการปฏิรูปโครงสร้างภาษีเพื่อลดความเสี่ยงต่อฐานะทางการคลัง และรองรับการเข้าสู่สังคมสูงอายุควบคู่กันไปด้วย

สำหรับการนำเสนอผลงานเรื่องที่สอง ได้แก่ “นวัตกรรมในการพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน : แผนที่การเข้าถึงบริการทางการเงินระดับฐานราก (Microfinance Inclusion Map : MIM)” ได้มีการนำเสนอ และให้ความเห็น ดังนี้

นายปณิธาน สุขสำราญ ได้นำเสนอว่า คณะผู้วิจัยได้พัฒนาแผนที่การเข้าถึงบริการทางการเงินระดับฐานราก (Microfinance Inclusion Map : MIM) เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ระบบการเงินภาคประชาชนอย่างครบถ้วน ทั้งด้านการเข้าถึงบริการทางการเงิน และด้านอื่น ๆ และสามารถวิเคราะห์ปัญหาเป็นรายพื้นที่ได้

นายโชติวัฒน์ อัมรินทร์ เสนอว่า คณะผู้วิจัยได้พัฒนาดัชนีการเข้าถึงบริการทางการเงินระดับฐานราก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ MIM เพื่อวัดระดับการเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชนระดับฐานรากผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) รวมถึงรายละเอียดต่าง ๆ ได้แก่ การเข้าถึงบริการทางการเงินในเบื้องต้น ความสะดวกในการใช้บริการ และปริมาณการใช้บริการของแต่ละพื้นที่

นางสาวบุปผาชาต อัศวพิทักษ์คีรี นำเสนอว่า นอกจากระดับการเข้าถึงบริการทางการเงินระดับฐานรากที่ใช้บริการผ่าน SFIs แล้ว MIM ยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้ร่วมกับข้อมูลทางการเงินฐานรากอื่น ๆ เช่น การประเมินคุณภาพองค์กรการเงินชุมชน ระดับความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน เป็นต้น ซึ่งจะทำให้การวิเคราะห์สถานการณ์และการแก้ไขปัญหาระบบการเงินฐานรากในแต่ละพื้นที่มีความสมบูรณ์ สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่

นายปณิธาน สุขสำราญ สรุปว่า MIM ถือเป็นนวัตกรรม ที่สามารถใช้เป็นเครื่องมือวิเคราะห์และกำหนดนโยบายแบบ “Tailor Made” เป็นรายพื้นที่ ให้เป็นไปแบบ “ถูกที่ ถูกตัว” ได้แก่ “ถูกที่” หรือ Selective Target จะช่วยกำหนดพื้นที่เป้าหมายที่มีความเร่งด่วนของปัญหา และช่วยวิเคราะห์ปัญหาหลาย ๆ มิติ ที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ได้อย่างบูรณาการ จึงแก้ปัญหาได้ “ถูกตัว” และตรงตามประเด็นปัญหา

นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ ประธานกรรมการมูลนิธิอาจารย์จำเนียร สาระนาค ให้ความเห็นว่า งานวิจัยนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะช่วยในการจัดการ และวิเคราะห์การเข้าถึงบริการทางการเงินระดับฐานรากให้มีความครบถ้วน และได้เสนอให้ทดลองใช้แผนที่ MIM ในระดับตำบล และสนับสนุนให้ใช้ระบบ IT กับองค์กรการเงินชุมชนเพื่อให้เกิดระบบฐานข้อมูลที่ดี รวมถึงการให้ความรู้ด้านการบริหารจัดการการเงินแก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อย โดยเน้นวินัยการใช้เงินและการออมเพื่อลดปัญหาหนี้สินครัวเรือน

นายกิตติพงศ์ บุญยิ่ง ผู้ช่วยผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ให้ความเห็นว่า แผนที่ MIM จะเป็นประโยชน์ในการทำงานร่วมกันระหว่าง SFIs และกระทรวงการคลัง ในการดำเนินนโยบายและติดตามผลของนโยบาย โดยแนะนำว่าควรส่งเสริมให้ใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงินระดับฐานรากให้มากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ สศค. จะนำผลงานวิจัย ข้อเสนอแนะ และข้อวิจารณ์ต่าง ๆ ไปใช้ในการพัฒนางานและประกอบการออกแบบนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version