เคล็ดไม่ลับธุรกิจปี 2559
จากตัวเลขผลประกอบการไตรมาสล่าสุดของ Facebook และ Alibaba ที่มีรายได้ผ่านมือถือคิดเป็นสัดส่วน 76% และ 51% ของรายได้ทั้งหมดตามลำดับ ตลอดจนตัวเลขผู้ใช้สมาร์ทโฟนทั่วโลก กว่า 2 พันล้านคน คิดเป็น 28% ของประชากรทั้งหมด จีน 565 ล้านคน อาเซียน 182 ล้านคน ส่วนไทยนั้นมีคนใช้สมาร์ทโฟน ถึง 37 ล้านคน และคาดว่าทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 6,100 ล้านคน ภายในในปี 2020 โดยปีนี้จะเป็นปีแรกที่มีจำนวนผู้ใช้สมาร์ทโฟนมากกว่าผู้ใช้คอมพิวเตอร์เดสก์ทอป จากข้อมูลทั้งหมดจึงปฏิเสธไม่ได้ว่าสมาร์ทโฟนได้เข้ามามีบทบาทต่อพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ธุรกิจจึงจำเป็นต้องตระหนักและปรับกลยุทธ์ เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันในเกมธุรกิจใหม่นี้
ปี 2016 ยุคโมบาย 3.0 มาแน่ “โมบาย 3.0 คือยุคของการบริการผ่านมือถือตามแนวคิด Mobile First”
ธนพงศ์พรรณ ธัญญรัตตกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทู ทรี เปอร์สเปกทีฟ กล่าวในงานสัมมนาครั้งนี้ว่า โมบายเป็นส่วนหนึ่งของเทรนด์ด้านโมบิลิตี้ซึ่งเป็น 1 ใน 4 เมกะเทรนด์ด้านเทคโนโลยีที่ประกอบด้วย โมบิลิตี้ โซเชียลเทคโนโลยี คลาวด์ และบิ๊กเดต้า ที่มีอิทธิพลมากที่สุดในยุคนี้ เทรนด์ด้านโมบายนี้ยังส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมอื่นๆ ด้วย อาทิ การโฆษณาผ่านมือถือ โมบายเพย์เมนต์ โมบายคอมเมิร์ซ ส่วนเหตุผลทำไมการเติบโตส่วนใหญ่มาจากโมบายแอป เนื่องจากตัวเลขพฤติกรรมการใช้สมาร์ทโฟนที่กว่า 80% ของผู้ใช้งานผ่านโมบายแอป เพียงแค่ 20% มาจากโมบายบราวเซอร์
เราผ่านยุค โมบาย 1.0 ซึ่งเป็นยุคแรกของการทำโมบายแอปพลิเคชั่นด้วยการสร้างแอปสำหรับแบรนด์และองค์กร หรือ แอปเกมต่างๆ โมบาย 2.0 คือยุคที่องค์กรต่างๆ เริ่มมีการให้บริการผ่านโมบายมากยิ่งขึ้น เช่น การซื้อขาย อีบุ๊ค และ สื่อออนไลน์ต่างๆ ที่สร้างขึ้นมาเฉพาะสำหรับผู้ใช้สมาร์ทโฟน ส่วนเทรนด์โมบายมาร์เก็ตติ้งที่น่าสนใจในปี 2016 ได้แก่ โมบาย 3.0 ซึ่งคือยุคของการบริการผ่านมือถือตามแนวคิด Mobile First ที่ออกแบบให้ผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง และนำเอาความสามารถเฉพาะของสมาร์ทโฟนทั้งด้านโมบายคอนเทนท์และโมบายคอมเมิร์ซมาวิเคราะห์ผลเพื่อให้เกิดการให้บริการเฉพาะเจาะจงแก่ผู้บริโภคแต่ละคน ทำให้โมบายกลายเป็นเครื่องมือหลักสำหรับการสร้างปฏิสัมพันธ์และการซื้อขายในวิถีชีวิตประจำวันของผู้บริโภค ซึ่งทำให้สมาร์ทโฟนได้เข้ามาเพิ่มสัดส่วนการซื้อขายมากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับการซื้อขายแบบดั้งเดิมที่ไม่ผ่านสื่อดิจิตอลและโมบาย
Design experience: Not just design app “ประสบการณ์บนมือถือคือหัวใจสำคัญของ Mobile Application”
การทำการตลาดผ่านมือถือทำได้หลากหลายรูปแบบแล้วแต่วัตถุประสงค์ทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการทำเพื่อเพิ่มฐานลูกค้า สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับตราสินค้า หรือ การบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้าในระยะยาว การจะเลือกใช้เครื่องมือ เช่น โมบายแอปพลิเคชั่นหรือเว็บไซต์นั้น ทุกอย่างอยู่ที่วิธีการที่คุณจะเอาไปใช้กับธุรกิจ และการสร้างกลยุทธ์การทำการตลาดผ่านมือถือที่ดีนั้นจำเป็นที่จะต้องเข้าใจแนวคิดในการสร้างประสบการณ์ให้แก่ลูกค้า
นิพนธ์ แสงธีระพานิชย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิจิตอลกรูฟ จำกัด กล่าวว่า ในตลาดมีแอปพลิเคชั่นมากมายหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นแอปที่ช่วยให้ชีวิตของลูกค้าง่ายขึ้น แอปที่เน้นในเรื่องของการมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า แอปที่เน้นในด้านของการทำโมบายด์คอมเมอร์ซ (M-Commerce) หรือแอปที่มีหลายๆ อรรถประโยชน์รวมกัน โดยแอปฯ เหล่านี้สามารถตอบโจทย์ทางการตลาดขององค์กรได้เหมือนกันแต่การสร้างประสบการณ์ที่ดีจำเป็นต้องหาจุดเด่นในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำ Omni Channel Experience ที่เน้นในด้านการเชื่อมโยงทุก Touch Point ของลูกค้าเข้าด้วยกันอย่างไร้รอยต่อ หรือการสร้างประสบการณ์จากหน้าร้านค้า โดยการใช้เทคโนโลยีอย่าง GPS หรือ iBeacon เข้ามาช่วยภายในแอปพลิเคชั่น เพื่อมอบสิทธิพิเศษ หรือสร้างเนื้อหาที่ ถูกคน ถูกที่ และ ถูกเวลา
4 ขั้นตอนสร้างแอปที่ประทับใจ “แอปต้องเป็นส่วนสำคัญที่ลูกค้าขาดไม่ได้”
ทางด้านกูรูการสร้างและพัฒนาแอปพลิเคชั่น เวทสุธี เหล่าตระกูล ผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์ และ คุณธารารัตน์ ดิลกสวัสดิกุล ผู้จัดการโครงการ จาก SHOPPENING เสริมว่า ปัจจุบันแอปไม่ได้สร้างยากอีกต่อไป เรามีเครื่องมือต่าง ๆ ให้สร้างได้ง่ายๆ ทั่วไปในตลาด แต่ข้อสำคัญคือเมื่อผู้ใช้ดาวน์โหลดแอปแล้ว ทำอย่างไรให้เมื่อลองใช้ ผู้ใช้ประทับใจไม่ลบทิ้ง ซึ่งในเรื่องดังกล่าวประกอบด้วยหลักการสำคัญ 4 อย่าง คือ 1) ทำให้แอปเป็นส่วนบริการที่ลูกค้าขาดไม่ได้ ต้องให้แอปเป็นส่วนหนึ่งของวงจรการใช้งานตั้งแต่การหาข้อมูล ตัดสินใจใช้บริการ ไปจนถึงบริการหลังการขาย 2) คำนึงถึงประสบการณ์ของผู้ใช้ ในการเล่นแอปที่ดีตั้งแต่ครั้งแรก และทดสอบให้สมบูรณ์จริงๆ ก่อนเปิดให้ลูกค้าใช้ สามเน้นลูกเล่นเฉพาะของแอปให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะเครื่องมือที่ทำให้เกิด engagement กับธุรกิจทั้ง Chat หรือ Push Notification และสุดท้ายคือการโปรโมทให้ลูกค้าใช้ในหลายๆ ช่องทาง เช่นสื่อของตัวเอง และหมั่นเช็คค่าสถิตินำมาปรับปรุงการบริการให้ดียิ่งขึ้นไปอีก
Mobile Trick to Win First “ถ้าเราไปอยู่ในมือถือได้ เราก็ไปอยู่ในใจลูกค้าได้”
ปัจจุบันคนหันมาสนใจการตลาดมือถือกันมากโดยเฉพาะการทำแอปพลิเคชั่นในธุรกิจขนาดเล็กและธุรกิจขนาดใหญ่ สถิติล่าสุดยอดรวมแอปจากทุกสโตร์รวมกันมีมากกว่า 3 ล้านแอป โจทย์คือธุรกิจจะทำอย่างไรให้แอปโดดเด่นกว่า 3 ล้านแอปที่เหลือในสโตร์ได้อย่างไร ถึงแม้ว่าประเทศไทยมีคนใช้มือถือกว่า 35 ล้านคน แต่เราไม่ได้ทำแอปมาเพื่อทุกคน เราทำแอปมาเพื่อคนกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมาย เราต้องรู้ความต้องการของคนกลุ่มนี้ "ถ้าเราไปอยู่มือถือลูกค้าได้ เราก็ไปอยู่ในใจลูกค้าได้" ทรงพล ยิ่งสุววรณโชติ ผู้อำนวยการด้านการตลาด บริษัท ดิจิตอลกรูฟ จำกัด ได้ให้แนวคิดสั้นๆ ง่ายๆ 3 Tricks สำหรับการเริ่มต้นแอป
1. Customers FEEL - การคำนึงถึงอารมณ์ลูกค้าหลังจากเล่นแอปของคุณ สนุก หลากหลาย น่าเชื่อถือ เทคโนโลยี ฯลฯ ให้เลือกมาเพียงอารมณ์เดียว เพื่อให้เกิดแนวทางที่ชัดเจนของการพัฒนาFunction และการสื่อสาร
2. What's NEW - ต้องมองหาความใหม่ ทั้ง New mobile technology เลือกใช้เทคโนโลยีอย่างฉลาด ใช้เท่าที่จำเป็น และ New tools เราต้องทำให้ Mobile เป็นเครื่องมือใหม่ ไม่เหมือน marketing tools อื่นๆ ของเราให้ได้
3. The NEXT
- The next TREND ต้องรู้ทิศทางคาดการณ์แนวโน้ม Interactive Experience, Internet of things และ Personalize data เป็นกระแสที่ต้องจับตามอง
- The next PEN คือ การเขียนเนื้อหาครั้งต่อไปว่าจะส่งอะไรให้ลูกค้า หากเนื้อหาไม่อัพเดท การเก็บแอปไว้คงไม่มีประโยชน์ และ
- The next VERSION เมื่อเราปล่อยแอปแล้ว ห้ามปล่อยแล้วปล่อยเลย ทุก Download ถือเป็นAssetที่มีค่า ต้องคิดเสมอว่าเราสามารถต่อยอดอะไรได้ ทำให้ต่อเนื่องจะคุ้มค่ามากกว่าการเริ่มนับ1ใหม่เสมอ
“สุดท้ายการโปรโมทแอปเป็นเรื่องสำคัญที่ธุรกิจมักลืม ทั้งเวลาและงบประมาณที่ต้องใช้จ่ายไป ทำให้มีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อนำแอปเข้าไปอยู่ในมือลูกค้าของเราให้ได้มากที่สุด” ทรงพล กล่าวปิดท้าย
จะเห็นได้ว่าสิ่งสำคัญที่จะทำให้โมบายแอปลิเคชั่นประสบความสำเร็จนั้นคือการเข้าใจความต้องการของลูกค้า ต้องรู้ว่าลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของเรามีดิจิตอลไลฟ์สไตล์ เป็นแบบไหน และอะไรคือแรงขับเคลื่อนในการทำสิ่งต่างๆ บนโลกออนไลน์ จึงจะรู้ว่าแอปลิเคชั่นแบบไหนจะตอบโจทย์ลูกค้าและธุรกิจได้ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นโจทย์ที่แต่ละธุรกิจจะต้องเตรียมความพร้อมสำหรับปี 2559 ให้ดี