นายธีระ กนกกาญจนรัตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ด้านกลยุทธและอุตสาหกรรม ICT จาก เจ.เอ็ม. คาตาลิสท์ บริษัทวิจัยและให้คำปรึกษา ได้ให้ความเห็นว่า แม้การช่วยเหลือและยกระดับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ผู้มีรายได้น้อย รวมถึงการกระจายการลงทุนไปถึงรากฐานนั้นจะเป็นเรื่องเร่งด่วน แต่ภาครัฐก็ไม่ควรหยุดการสนับสนุนและพัฒนาให้เกิด Digital Economy หรือเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเศรษฐกิจดิจิทัลนี้ส่งผลโดยตรงต่อเศรษฐกิจ การลงทุน และพื้นฐานการพัฒนาศักยภาพการแข่งขันของภาคเอกชน
นายธีระ ให้ความเห็นว่า “ผลที่เราจะได้รับจากระบบเศรษฐกิจดิจิทัลนั้นมีทั้งการขับเคลื่อนในแง่ของมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยตรง เช่นการเติบโตของระบบอีคอมเมิร์ซ ซึ่งในประเทศไทยมีมูลค่าสูงขึ้นและมีอัตราเติบโตสูงถึง 30% ต่อปีโดยเฉลี่ย ผลสำรวจของเราแสดงให้เห็นว่าในปีนี้มูลค่าของการซื้อขายในระบบอีคอมเมิร์ซจะมีมากกว่า 8 แสนล้านบาทในปีนี้
ซึ่งเราจะเห็นว่ายังมีโอกาสให้เติบโตอีกมากจากพฤติกรรมและคุณลักษณะของผู้บริโภคในประเทศไทย ที่มากกว่าครึ่งของประชากรยังไม่มีโอกาสเข้าถึงอินเตอร์เน็ทความเร็วสูง รวมทั้งการที่ผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ทมากกว่า 30% ยังไม่ซื้อขายออนไลน์เนื่องจากขาดความเชื่อมั่นในด้านความปลอดภัย ดังนั้นหากเราสามารถพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลให้เกิดได้นั้น เราจะได้เห็นมูลค่าการค้าขายและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากขึ้นทันที”
ในขณะเดียวกัน นอกจากเศรษฐกิจดิจิทัลจะส่งผลโดยตรงกับการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจแล้ว ยังเป็นการเพิ่มศักยภาพเปิดโอกาสในการสร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมอื่นๆของประเทศอีกด้วย
นายธีระ กล่าวว่า “ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2558 นี้ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวมาเยือนมากกว่า 12.4 ล้านคน ซึ่งนับว่าเป็นการขยายตัวมากกว่า 24.7% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว สร้างรายได้ให้กับภาคการท่องเที่ยวมากกว่า 5 แสนล้านบาท และจากผลสำรวจเราพบว่าในปัจจุบัน 88% ของนักท่องเที่ยวทั่วโลกนั้นพกอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่ไปใช้งานในขณะออกเดินทาง และมากกว่า 50% ค้นหาข้อมูลและวางแผนการท่องเที่ยวผ่านแอพพลิเคชั่นบน mobile devices ดังนั้นในส่วนนี้จึงเป็นโอกาสทางธุรกิจที่สำคัญสำหรับนักพัฒนาชาวไทยที่จะสร้างนวัตกรรมขึ้นมาเสริมศักยภาพของอุตสาหกรรม”
สุดท้ายนี้ รองนายกรัฐมนตรีได้พูดถึงการให้การสนับสนุนพัฒนานักรบทางธุรกิจโดยเฉพาะกลุ่ม Start Up ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีว่าจะเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนารากฐานของประเทศ
“ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมาของปี 2558 ปี กลุ่มบริษัท Start Up ชั้นนำของไทยเราสามารถระดมทุนให้เกิดได้เป็นจำนวนมากกว่า 840 ล้านบาทแล้ว และยังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ถ้าหากมีการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องเม็ดเงินลงทุนนี้จะเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งนอกจากผู้ประกอบการ Start Up รุ่นใหม่สัญชาติไทยเหล่านี้จะได้รับประโยชน์แล้ว ธุรกิจอื่นๆที่อยู่ในระบบนิเวศน์ของเศรษฐกิจดิจิทัล เช่นด้านการพัฒนา Co-Working space, สถาบันการศึกษา, และธุรกิจท้องถิ่น ก็จะได้รับการพัฒนาและขยายตัวไปพร้อมกันด้วย ดังนั้นแม้ว่านโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและการบริหารจะมีการเปลี่ยนแปลง แต่ภาครัฐก็ไม่ควรละเลยนโยบายการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิด Digital Economy ในประเทศไทย” นายธีระ เสริม