ในอดีตที่ผ่านมา นักวิจัยที่มีความสามารถสูงในประเทศไทยจำเป็นต้องเสนอโครงการวิจัยต่างๆ พร้อมๆ กัน เพื่อให้ได้รับทุนวิจัยจำนวนมากพอ ที่จะทำงานได้เต็มความสามารถ ซึ่งบางโครงการ ก็อาจไม่ได้เชื่อมโยง กับภาคการผลิตและบริการเท่าที่ควร การจัดตั้งทุน PTT-NSTDA Chair Professor นี้ จึงเป็นกลไกหนึ่ง ที่ภาคการผลิตและบริการ เข้ามามีส่วนร่วมสำคัญ ในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคการศึกษา ในด้านการวิจัยและพัฒนา โดยให้การสนับสนุนและผลักดันให้นักวิจัยที่มีความสามารถสูง สามารถทำงานวิจัย และผลิตผลงานที่มีศักยภาพ ต่อการเชื่อมโยงไปสู่การใช้ประโยชน์ได้จริง ทั้งในภาคการผลิตและบริการ และ/หรือ ภาคสังคมโดยรวม ซึ่งจะเป็นการยกระดับความสามารถในการวิจัยและพัฒนาของประเทศไทยต่อไป
ดร.ไพรินทร์ เปิดเผยว่า สำหรับทุน PTT-NSTDA Chair Professor นั้นจะช่วยสนับสนุนการวิจัยที่จะเป็นประโยชน์ในการสร้างขีดความสามารถ ในการแข่งขันของอุตสาหกรรม หรือการบริการไทยโดยส่วนรวม ซึ่งได้กำหนดหัวข้อที่ต้องการสนับสนุน ได้แก่ เชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuels) เชื้อเพลิงและเคมีภัณฑ์จากวัตถุดิบฐานคาร์บอน (X-to-liquid / chemicals) พลาสติก และเคมีภัณฑ์จากวัตถุดิบชีวภาพ (Bio-plastics/chemicals) วัสดุ และพอลิเมอร์ ที่มีคุณสมบัติจำเพาะต่อการใช้งาน (Performance/ specialty materials) และ ตัวเร่งปฏิกิริยาและตัวดูดซับ (Catalysts and adsorbents)สำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเลียม ปิโตรเคมี/พอลิเมอร์ และเชื้อเพลิงชีวภาพ
ภายใต้เงื่อนไขของความผูกพันที่ลงนามในบันทึกความเข้าใจครั้งนี้ ปตท.จะให้การสนับสนุนผู้ที่ผ่านการคัดเลือก จำนวน 1 ทุน โดยมีงบประมาณรวม 20,000,000 บาท (ยี่สิบล้านบาท) มีระยะเวลารับทุน 5 ปี ซึ่งจะมีการประเมินเพื่อรับทุนต่อเนื่องทุกปี ภายใต้การบริหารจัดการโครงการโดย สวทช.
ดร.ไพรินทร์ กล่าวสรุปว่า ปตท.ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างนักวิจัยและวิทยาศาสตร์ เพื่อให้เกิดการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในอนาคต จึงเห็นได้ว่า นอกจากทุนการศึกษาที่ได้รับความร่วมมืออย่างดีจาก สวทช.ในครั้งนี้แล้วนั้น กลุ่ม ปตท.ยังได้เดินหน้าจัดตั้งโรงเรียนกำเนิดวิทย์ และสถาบันวิทยสิริเมธี ตั้งอยู่ที่อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง เพื่อสร้างนักวิจัย และนักวิทยาศาสตร์ชั้นเลิศมาช่วยพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต